พัฒนาแล็บตรวจโควิด รับระบาดระลอกสอง

พัฒนาแล็บตรวจโควิด รับระบาดระลอกสอง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก ส่งผลให้อุตสาหกรรมการแพทย์มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว รวมถึงการขยายตัวของห้องแล็บตรวจเชื้อโควิด-19 ในเวลาอันรวดเร็ว ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่ผลักดันให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ การตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโควิด-19 หลักๆ มี 3 วิธี คือ แบบที่ 1 การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ แบบที่ 2 การตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว (Rapid Test) และแบบที่ 3 การตรวจหาแอนติเจนเชื้อไวรัส (Antigen)

ซึ่งหากจะสามารถทำการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ ต้องผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ ตามมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยแนวทางในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ ในโรงพยาบาล หรือหน่วยงานชันสูตรสาธารณสุข เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 (COVID-19) ด้วยวิธี Realtime RT PCR มีมาตรฐานความปลอดภัยห้องปฏิบัติการเช่นเดียวกับมาตรฐานการปฏิบัติงานตรวจวิเคราะห์เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิด A (H1N1)     ซึ่งใช้เป็นต้นแบบในการบริหารจัดการห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ MERS CoV ซึ่งเกิดการระบาดในปี 2557 และแนวทางสากลในการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพห้องปฏิบัติการขององค์การอนามัยโลก (WHO Laboratory biosafety manual)

ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ปัจจุบัน (23 ม.ค.64) ห้องปฏิบัติการและเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 ที่ผ่านการรับรองจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวนทั้งสิ้น 255 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล 95 แห่ง (แบ่งเป็นภาครัฐ 38 แห่ง, ภาคเอกชน 57 แห่ง) และต่างจังหวัด 160 แห่ง (แบ่งเป็นภาครัฐ 128 แห่ง, ภาคเอกชน 32 แห่ง)

โดยห้องแล็บที่จะผ่านประเมินนั้น จะต้องมีนักเทคนิคการแพทย์ที่มีความรู้ในการตรวจหาสารพันธุกรรม มีเครื่องมือ มีสถานที่ปลอดภัย มีบุคลากรที่ผ่านการทดสอบ มีระบบควบคุมมาตรฐานห้องแล็บ และมีระบบข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน

ปัจจุบัน ภาพรวมการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของทั้งภาครัฐ และเอกชน ทั่วประเทศอยู่ที่ราว 30,000 ตัวอย่างต่อวัน หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้สถานการณ์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายวันจะอยู่ในระดับทรงตัว แต่ยังพบจำนวนที่เพิ่มมาจากการคัดกรองเชิงรุกเป็นจำนวนมาก

ด้านภาคเอกชน ผู้ให้บริการด้านการสนับสนุนบริการทางการแพทย์และธุรกิจโรงพยาบาล จึงต้องพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้ห้องปฏิบัติการสามารถตรวจโควิด-19 ได้ตามมาตรฐาน "วรเทพ คลังเกษม" ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขาย บริษัท เนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ (N Health) ซึ่งมีห้องปฏิบัติการกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ เปิดเผยว่า ได้พัฒนาห้องปฏิบัติการไบโอโมเลกุลาร์ ให้สามารถตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโควิด-19 ได้สูงสุด 3,000 ตัวอย่างต่อวัน เพื่อสนับสนุนการตรวจกับโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ แบ่งเป็น กรุงเทพและปริมณฑล 2,000 ตัวอย่าง และ ภูมิภาค 1,000 ตัวอย่าง โดยมีห้องปฏิบัติการไบโอโมเลกุลาร์ 9 แห่งทั่วประเทศ บริเวณหัวเมืองหลักรองรับสิ่งส่งตรวจจากทั่วประเทศ ผ่านการรับรองให้เป็นห้องปฏิบัติการเครือข่ายในการตรวจเชื้อโควิด-19 (SARS-COV-2) จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

สำหรับห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาเชื้อโควิด -19 ทั้ง 9 แห่ง ได้แก่

1.ห้องปฏิบัติการบริษัทไบโอโมเลกุลาร์ แลบอราทอรี่ส์ สาขากรุงเทพ

2.ห้องปฏิบัติการบริษัทเนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ สาขาโรงพยาบาลพญาไท 2

3.ห้องปฏิบัติการบริษัทเนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ สาขา โรงพยาบาลเปาโลเกษตร

4.ห้องปฏิบัติการบริษัทไบโอโมเลกุลาร์ แลบอราทอรี่ส์ สาขาโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์

5.ห้องปฏิบัติการบริษัทเนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ คลินิกการแพทย์ สาขาระยอง

6.ห้องปฏิบัติการบริษัทเนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ คลินิกการแพทย์ สาขาพัทยา

7.ห้องปฏิบัติการบริษัทเนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ คลินิกการแพทย์ สาขาหาดใหญ่

8.ห้องปฏิบัติการบริษัทเนชั่นแนล เฮลท์แคร์ ซิสเท็มส์ สาขาโรงพยาบาลกรุงเทพอุดร 

9.ห้องปฏิบัติการเอ็นเฮลท์ สหคลินิก สาขาเชียงใหม่

นอกจากนี้ ยังมีที่ประเทศกัมพูชา และ เมียนมา โดยการตรวจวิเคราะห์หาเชื้อโควิด-19 หลักๆ มี 3 วิธี คือ แบบที่ 1 การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ แบบที่ 2 การตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว (Rapid Test) และแบบที่ 3 การตรวจหาแอนติเจนเชื้อไวรัส (Antigen)

ซึ่งการตรวจทั้ง 3 แบบนี้ ผู้ตรวจต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล และทางโรงพยาบาลจะนำสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 มายังห้องปฏิบัติการไบโอโมเลกุลาร์ และทำการตรวจวิเคราะห์จากสิ่งส่งตรวจ ด้วยชุดน้ำยาและวิธีการที่เป็นที่ยอมรับในสากล ก่อนจะรายงานผลการตรวจภายใน 24 ชั่วโมง

นายวรเทพ กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจด้านการสนับสนุนบริการทางการแพทย์ฯ ที่ผ่านมา มีการเติบโตตามความต้องการในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเป็นธุรกิจหลักที่รองรับโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ในอนาคต คาดว่าธุรกิจ Health Care จะเติบโตเพิ่มมากขึ้น จากสังคมผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ ยังให้บริการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริการปราศจากเชื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ เพื่อดูแลรักษาความสะอาดภายในโรงพยาบาลเพื่อให้มีความพร้อมต่อการรักษา ในช่วงการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งให้บริการดูแลรักษา ซ่อมบำรุง เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ บริการปราศจากเชื้ออุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ โดยฆ่าเชื้อเครื่องมือแพทย์ที่ใช้แล้วเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ดูแลรักษาความสะอาดภายในโรงพยาบาลให้มีความพร้อมต่อการรักษา และการบริหารจัดการเครื่องมือแพทย์

ในอนาคต มีแผนขยายบริการไปสู่ B2C (Business-to-Customer) มากขึ้น เนื่องจาก ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบ B2B (Business-to-Business) เป็นหลัก เช่น โรคทั่วไปที่ตรวจทางห้องปฏิบัติการ และแปลผลส่งให้แพทย์ในโรงพยาบาล ดังนั้น การขยายบริการไปยัง B2C เพื่อให้คนไข้สามารถมาตรวจที่ห้องแล็บได้ โดยจะรายงานผลการตรวจให้ผู้ป่วยโดยตรง แต่ไม่ได้รักษา คนไข้ต้องนำผลไปรักษากับแพทย์ต่อไป โดยผลจาก N Health เชื่อถือได้ เพราะทำโดยนักเทคนิคการแพทย์” วรเทพ กล่าว

  • เกณฑ์การจัดตั้งห้องปฏิบัติการ

องค์ประกอบในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการ เครือข่ายในการตรวจเชื้อโควิด-19 (SARS-COV-2) ประกอบด้วย 1. พื้นที่ห้องปฏิบัติการ ต้องแบ่งเป็น 3 ส่วนเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับขั้นตอน การสกัดสารพันธุกรรม (RNA extraction) การเตรียมน้ำยาสะอาด และ การเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรม (PCR) และตรวจสอบผล 2. เครื่องมือและอุปกรณ์ ประกอบด้วย ตู้ชีวนิรภัย คลาส ทู หรือสูงกว่า ขนาด 4 ฟุตเป็นอย่างน้อย เพื่อใช้ในการตรวจสอบและแบ่งตัวอย่าง รวมถึงการสกัดสารพันธุกรรม , ตู้ PCR เพื่อใช้ในการเตรียมน้ำยาสะอาด , ตู้แช่แข็ง –20 องศา เพื่อใช้เก็บตัวอย่างหลังการวิเคราะห์ , ตู้เย็น เพื่อใช้เก็บน้ำยา , เครื่องหมุนเหวี่ยง เพื่อใช้ในการเตรียมตัวอย่างหรือน้ำยา , เครื่องสกัดสารพันธุกรรม ในกรณีที่ใช้เครื่องแทนการการสกัดแบบแมนนวล , เครื่อง Realtime PCR และ เครื่องนึ่งความดันไอน้ำ (autoclave)

3.บุคลากร มีความรู้ เชี่ยวชาญ ผ่านการอบรมด้านเทคนิคการตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี RT-PCR เข้าใจระบบคุณภาพห้องปฏิบัติการที่มีของหน่วยงาน 4. อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ได้แก่ หมวกคลุมผม อุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจ เสื้อกาวน์ชนิดปิดหน้ากันน้ำ ถุงมือ และอื่นๆ 5.ระบบความปลอดภัยห้องปฏิบัติการ เช่น ควบคุมการเข้าออก กำจัดขยะติดเชื้ออย่างถูกวิธี มีนำยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอลล์ หรือน้ำยาอื่นๆ ที่เหมาะสม 6.ระบบคุณภาพ โดยควบคุมคุณภาพทั้งบุคลากร สถานที่และสภาวะแวดล้อม มีคู่มือการใช้งานและบำรุงรักษาเครื่องมือ พร้อมใช้ตามความเหมาะสม