อสังหาฯอ่วมพิษโควิดขาดแรงงานก่อสร้าง

อสังหาฯอ่วมพิษโควิดขาดแรงงานก่อสร้าง

สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ชี้วิกฤติโควิดกระทบแรงงานก่อสร้างขาดแคลนหนัก แข่งชิงตัวต่างด้าวดันค่าแรงทะลุ 400 บาทต่อวัน กระอักต้นทุนพุ่ง จับมือ 3 องค์กรอสังหาฯ-สภาหอการค้าไทย หารือ “คลัง” ออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน พร้อมเดินหน้าจัด 2 บิ๊กอีเวนท์

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานก่อสร้างตั้งแต่ปี 2563 หายไป 10% ทำให้จำนวนแรงงานต่างด้าวที่มีอยู่ในไทยมีจำนวนลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงตัวแรงงานด้วยการเพิ่มค่าแรงให้กับแรงงานจากปกติวันละ 331 บาท เพิ่มเป็น 400 บาทต่อวัน กระทบต้นทุนในส่วนค่าแรงเพิ่มขึ้นมาก

สำหรับ ต้นทุนค่าแรงคิดเป็นสัดส่วน 20-25% ของต้นทุนดำเนินการ ต้นทุนวัสดุคิดเป็นสัดส่วน 75-80% ฉะนั้นตราบใดที่ต้นทุนวัสดุยังไม่ขึ้นราคา ผู้ประกอบการยังคงรับมือได้ และยังไม่ปรับราคาค่าก่อสร้างขึ้น

“ภาวะปัจจุบัน กำลังซื้อซบเซาอย่างมากหากปรับราคาขึ้นจะส่งผลกระทบแน่นอน เพราะคนไม่มีกำลังซื้อพอที่จะสร้างบ้านในราคาที่แพงขึ้น จะเห็นว่าบ้านระดับราคาตั้งแต่ 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของตลาดชะลอการสร้างบ้านออกไป เพราะไม่มั่นใจสถานการณ์ รายได้ลดลง ขณะที่กลุ่มสร้างบ้านระดับราคา 4-5 ล้านบาทขึ้นไปยังพอมีกำลังซื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของกิจการที่มีเงินออม แต่ก็ต้องระมัดระวัง”

ในเบื้องต้นระหว่างที่วัสดุก่อสร้างต่างๆ ยังไม่ปรับราคาขึ้น ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านหรือผู้ประกอบการอสังหาฯ จะต้องบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้นด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ทดแทนแรงงานในแต่ละส่วนงาน รวมทั้งใช้วัสดุสำเร็จรูปเป็นทางเลือกมากขึ้นเพื่อลดการใช้แรงงานคน

นายวรวุฒิ กล่าวว่า ในเดือน ก.พ.นี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 3 สมาคมอสังหาฯ จะเข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงข้อสรุปมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจอสังหาฯ และประชาชน ที่ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง จากที่ผ่านมากลุ่ม “บ้านสร้างเอง” ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอสังหาฯ ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือใดจากมาตรการของรัฐซึ่งจำกัดเฉพาะบ้านใหม่ และ บ้านมือสองเท่านั้น

“อยากให้รัฐบาลเพิ่มนิยามการดูแลช่วยเหลือให้ครอบคลุมมายังการปลูกสร้างบ้านเองด้วยเพราะเป็นตลาดที่มีความเกี่ยวเนื่องกิจการหลายแขนง มูลค่ามหาศาลถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี กระจายตามภูมิภาคต่างๆ ขณะแนวโน้มการปลูกสร้างบ้านเองของผู้บริโภค มีระดับราคาสูงขึ้น หากรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้ข้อสรุปหรือมีการออกมาตรการมาสนับสนุน เชื่อว่าจะเป็นอีกแรงกระตุ้นการตัดสินใจของประชาชนผู้บริโภค”

โดยสมาคมฯ นำเสนอแนวทาง ประกอบด้วย 1.ขอลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และจด จำนอง 0.01% สำหรับมูลค่า 5 ล้านบาทแรก 2.สินเชื่อ (soft loan) สำหรับที่อยู่อาศัย รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่านการดำเนินการของธนาคารรัฐ 3.ยกเลิกมาตรการแอลทีวี และ 4.สานต่อโครงการบ้านดีมีดาวน์

ขณะที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบสอง เชื่อว่ารัฐบาลน่าจะควบคุมได้ ประกอบกับเริ่มมีความชัดเจนเรื่องวัคซีนเชื่อว่ากลางปี 2564 สถานการณ์ต่างๆ จะคลี่คลาย โดยสมาคมฯ เตรียมจัดงานแบบออฟไลน์และการตลาดแบบออนไลน์ 2 งานใหญ่ “งานรับสร้างบ้าน Focus 2021” ในเดือน มี.ค. และ “งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2021” ในเดือน ต.ค. ที่ศูนย์การแสดงสินค้าเมืองทองธานี

พร้อมกันนี้ ได้จัดทำ “มาตรฐานกลางการก่อสร้าง” ร่วมกับภาควิชาวิศวกรรมโยธาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อสร้างความมั่นใจ ให้ผู้มาใช้บริการของสมาชิกสมาคมฯ รวมทั้งโครงการ “แบบบ้านประหยัดพลังงาน” หรือ “บ้านเบอร์ 5” ซึ่งร่วมกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน  สำหรับตลาดรวมธุรกิจรับสร้างบ้านปี 2564 คาดการณ์ขยายตัว 5% มีมูลค่า 12,000-12,500 ล้านบาท