ทูตอิสราเอลชวนร่วมงานรำลึก‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว’

ทูตอิสราเอลชวนร่วมงานรำลึก‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว’

ทูตอิสราเอลเชิญร่วมงานวันรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากลขององค์การสหประชาชาติประจำปี 2563 ปีนี้จัดในรูปแบบออนไลน์

วันที่ 27 ม.ค.ของทุกปีเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันรำลึกถึงชาวยิวหกล้านคน ที่ตกเป็นเหยื่อของการสังหารอย่างโหดเหี้ยมโดยนาซี

สาหรับปีนี้ จากสาเหตุของการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จึงจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากลขององค์การสหประชาชาติ ทางออนไลน์ ในวันพุธที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2564 เวลา 10.00 น. ทางหน้าเฟสบุ๊ก “Israel in Thailand” 

พิธีเริ่มด้วยการกล่าวสุนทรพจน์โดย ฯพณฯ ดร. เมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และการกล่าวสุนทรพจน์ผ่านทางวิดิทัศน์ของนายอันโตนิโอ กูแตเรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ

ตามด้วยการฉายภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “หนูเป็นลูกใคร” ชีวประวัติของนายซวี แฮร์เชล ผู้เกิดเมื่อพ.ศ.๒๔๘๕ ในครอบครัวชาวดัชท์เชื้อสายยิวในเมืองเล็กๆ ของเนเธอร์แลนด์ที่ถูกนาซียึดครอง ครอบครัวถูกกวาดต้อนไปอยู่ในเก็ตโตในกรุงอัมสเตอร์ดัม เพื่อจะถูกส่งต่อไปยังค่ายกักกัน และจบลงที่ค่ายสังหาร บิดาของซวีติดต่อเพื่อนชาวดัชท์ที่ไม่ได้เป็นยิวให้ช่วยชีวิตบุตรชายแรกเกิดของเขา ครอบครัวชาวดัชท์ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ได้เลี้ยงดูทารกน้อยราวกับเป็นบุตรของเขาเอง บิดามารดาของซวีถูกส่งไปยังค่ายมรณะโซบิบอร์ และถูกสังหารหลัง จากไปถึงได้ไม่นาน เมื่อสงครามสิ้นสุดลง ย่าของซวีซึ่งเป็นผู้รอดชีวิตเพียงคนเดียวของครอบครัว ได้มารับเขากลับไป เขาแต่งงานและมีบุตรสาวสองคน ซวีและครอบครัวได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในอิสราเอลเมื่อพ.ศ.๒๕๒๔ และตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๓๔ เป็นต้นมา ซวีได้ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของเขาให้บรรดาเยาวชนและบุคคลทั่วโลกได้รับรู้

พิธีรำลึกฯ จบลงด้วย บทเพลงชื่อ “เงียบเสียเถิด เงียบเสีย”(“Shtiler Shtiler”) ขับร้องโดยนักร้องโอเปร่าชาวไทย -อิตาลี นางสาวโมนิก คล่องตรวจโรค เพลงนี้ประพันธ์ทำนองโดย อเล็กซานเดอร์ (อเล็ก) โวลโควิซกิ  (ทาเมียร์) เด็กชายวัย ๑๑ ขวบ และคำร้องภาษายิดดิช โดย ขเมอร์เกอ แคกเซอร์กินซกิ โดยเป็นหนึ่งในเพลงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในเก็ตโตที่เมืองวิลนา ลิธัวเนีย ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีการแสดงเพลงนี้เป็นครั้งแรก ก่อนที่เก็ตโตจะถูกทำลาย เพลงนี้พรรณนาถึงชาวยิวกว่า ๗๐,๐๐๐ คนที่ถูกสังหารที่เมืองโพนา ในป่าใกล้เมืองวิลนา โดยสะท้อนความปวดร้าวและความยากลำบากของผู้ที่ถูกกักขังอยู่ในเก็ตโต

แม้ว่าเหตุการณ์โฮโลคอสต์จะผ่านมากว่า 70 ปีและมีการจัดพิธีรำลึกเป็นประจำทุกปีทั่วโลก แต่ในปัจจุบันยังคงมีความเกลียดชัง การมีอคติ การสังหารหมู่ และเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นพิธีรำลึกถึงเหตุการณ์โฮโลคอสต์ในอดีต จึงเป็นเสมือนคำมั่นสัญญาที่จะกระทำการทุกวิถีทางเพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์อันโหดเหี้ยมนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก ดังที่เอกอัครราชทูตอิสราเอลได้กล่าวในสุนทรพจน์ระหว่างพิธีว่า “ผมเชื่อว่าปัญหาที่แท้จริงซึ่งพวกเราควรกังวล คือเรื่องการขาดความรู้ และผมกล้าที่จะพูดได้ว่าเป็นเรื่องของความอวิชชา และความไม่ใส่ใจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ต่อข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซี 

กล่าวคือ การขาดความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มนุษย์ เป็นแหล่งบ่มเพาะชั้นดีของแนวคิดการเหยียดเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ และความเกลียดชัง ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้อีกครั้งในอนาคต...แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากและท้าทายอย่างยิ่ง แต่ยาที่มีประสิทธิภาพในการต้านพิษของการเหยียดเชื้อชาติ ความเกลียดชังชาวยิว และการเลือกปฏิบัติในทุกๆ รูปแบบ ก็คือการศึกษา”