คลังชู‘คนละครึ่ง’กระตุ้นบริโภค เล็งเปิดเฟส 3 กลางปีนี้

คลังชู‘คนละครึ่ง’กระตุ้นบริโภค  เล็งเปิดเฟส 3 กลางปีนี้

โครงการ”คนละครึ่ง” ถือเป็นนโยบายการคลังของรัฐบาลที่มีเสียงตอบรับที่ดีมากจากประชาชน และ เป็นมาตรการที่เรียกได้ว่า “win win” ทั้งฝั่งรัฐบาลและประชาชน

 โดยประชาชนเองก็มีเม็ดเงินเข้ามาสมทบการใช้จ่ายในแต่ละวันจากรัฐบาลครึ่งหนึ่งแต่ไม่เกิน 150 บาท ขณะที่ เงินที่รัฐบาลจ่ายไปนั้น ได้กระตุ้นให้ประชาชนควักเงินในกระเป๋าออกมาในจำนวนเท่ากันหรือมากกว่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ทดแทนการท่องเที่ยวที่หดหายไปในช่วงการระบาดโควิด-19

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เริ่มต้นโครงการคนละครึ่งในเฟสแรกตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 ปัจจุบัน อยู่ในช่วงดำเนินการในเฟสที่สอง ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.2564 ตัวเลขการใช้จ่ายล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นการใช้จ่ายจากประชาชนที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 51% และ 49% เป็นการจ่ายโดยรัฐบาล

สอดรับนโยบายสังคมไร้เงินสด

โครงการคนละครึ่ง ยังเป็นมาตรการที่ออกมาสอดรับนโยบายสังคมไร้เงินสดของรัฐบาล ซึ่งถือว่า ออกมาในจังหวะที่ดีมาก เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนไม่ต้องการจับต้องเงินสดมากนัก เนื่องจาก เกิดเหตุการณ์ระบาดของโควิด-19 ทำให้ยอดการใช้จ่ายผ่านระบบออนไลน์หรือผ่านระบบดิจิทัลมีมากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลได้สนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้การจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถึงจุดที่ทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าเต็มใจเข้าร่วมโครงการมากขนาดนี้ ซึ่งรวมถึง ร้านค้าประเภทหาบเร่ แผงลอยทั้งในเขตเมืองและชนบท

ตัวเลขที่สะท้อนความสำเร็จของรัฐบาลจากการผลักดันนโยบายดังกล่าว คือ ยอดการผูกบัตรประชาชนเข้ากับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบพร้อมเพย์ ล่าสุด ช่วงไตรมาสสามปี 2563 พบว่า มีประชาชนผูกบัตรประชาชนเข้ากับระบบพร้อมเพย์จำนวน 55.3 ล้านหมายเลข คิดเป็นกว่า 80%จากประชาชนรวม 69 ล้านคน

สำหรับโครงการคนละครึ่งทั้งสองเฟสนี้ มีประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก แต่ที่สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้มีจำนวน 15 ล้านคนตามที่รัฐบาลกำหนด ส่วนร้านค้าที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนั้น มีจำนวนกว่า 1.1 ล้านแห่ง

สำหรับผู้ที่เข้าร่วมโครงการในขณะนี้ นางสาวกุลยา ตันติเตมิท รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เผยว่า มีอยู่จำนวน 13.66 ล้านคน จะครบ 15 ล้านคนทั้งสองเฟสต่อเมื่อประชาชนที่มาลงทะเบียนรอบเก็บตกจำนวนกว่า 1.34 ล้านคนเข้ามาใช้สิทธิในเวลาที่กำหนด คือ ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ (วันที่เริ่มใช้จ่าย)

หาบเร่แผงลอยแห่ร่วมโครงการ

ส่วนจำนวนร้านค้าที่ลงทะเบียนร่วมโครงการมีจำนวน 1.12 ล้านแห่ง ในจำนวนนี้เป็นร้านค้าที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติแล้ว 7.5 แสนแห่ง รอดำเนินการตรวจสอบ 3.55 หมื่นแห่ง ไม่เข้าเงื่อนไขโครงการ 7,580  แห่ง ติดต่อไม่ได้/ไม่สนใจเข้าร่วมโครงการ 3.3 แสนแห่ง และยกเลิกการลงทะเบียน 900 แห่ง

เมื่อแยกตามประเภทธุรกิจ จะพบว่า ร้านอาหารและเครื่องดื่มมีจำนวนมากที่สุด โดยมีถึง 4.26 แสนร้านค้า รองลงมาเป็นร้านค้าทั่วไปและอื่นๆ 2.57 แสนแห่ง ร้านธงฟ้าประชารัฐ 4.72 หมื่นแห่ง และร้านโอท็อป 1.84 หมื่นแห่ง ทั้งนี้ เป็นร้านค้าที่มีหน้าร้าน 6.16 แสนแห่ง และไม่มีหน้าร้านหรือเป็นหาบเร่แผงลอยอยู่ 1.33 แสนแห่ง

เมื่อแบ่งตามพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านค้า พบว่า ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง มากที่สุด คือ ภาคกลางจำนวน 4.61 แสนแห่ง ภาคใต้ 2.01 แสนแห่ง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.96 แสนแห่ง  ภาคตะวันออก 1.07 แสนแห่ง ภาคเหนือ 1.06 แสนแห่ง และภาคตะวันตก 5.1 หมื่นแห่ง

จังหวัดที่มีร้านค้าเข้าร่วมมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร 1.8 แสนแห่ง  ชลบุรี 5.1 หมื่นแห่ง เชียงใหม่ 4.1 หมื่นแห่ง สมุทรปราการ 4 หมื่นแห่ง  นนทบุรี 3.9 หมื่นแห่ง สงขลา 3.7 หมื่นแห่ง  ปทุมธานี 3.6 หมื่นแห่ง นครราชสีมา 3.2 หมื่นแห่ง นครศรีธรรมราช 2.9 หมื่นแห่ง และ สุราษฎร์ธานี 2.8 หมื่นแห่ง

ยอดใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่มสูงสุด 

เมื่อแยกตามสัดส่วนการใช้จ่ายเงิน พบร้านค้าที่มีประชาชนมาใช้จ่ายเงินมากที่สุด คือ ร้านอาหารและเครื่องดื่ม 39% ร้านค้าทั่วไป มีสัดส่วนการใช้จ่ายเงินอยู่ที่ 35% ร้านธงฟ้าประชารัฐ 18% และ โอท็อป มีสัดส่วนการใช้จ่ายเงินอยู่ที่ 8%

สำหรับจังหวัดที่มียอดการใช้จ่ายเงินสูงสุด 5 อันดับแรก คือ กรุงเทพมหานคร มียอดการใช้จ่ายเงินสะสม 9.22 พันล้านบาท 13.93% สงขลา 2.65 พันล้านบาท 4%  ชลบุรี 2.58 พันล้านบาท 3.9%   เชียงใหม่ 2.34 พันล้านบาท 3.54% และ นครศรีธรรมราช 2.24 พันล้านบาท 3.38%

ประเมินผลก่อนเปิดเฟสสามกลางปีนี้

ด้วยผลตอบรับที่ดีดังกล่าว ทำให้รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังต้องการที่จะเดินหน้าโครงการดังกล่าว โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีแผนที่จะดำเนินโครงการคนละครึ่งต่อเนื่องในเฟสที่สาม เนื่องจาก เห็นว่า เป็นโครงการที่ทำให้การบริโภคในประเทศกระเตื้องขึ้น ซึ่งในภาวะที่รัฐบาลขาดรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศ เราจำเป็นต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศทดแทน ทั้งนี้ รัฐบาลได้ใช้งบประมาณจากการกู้เงินพ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1 ล้านล้านบาทในโครงการคนละครึ่งทั้งสองเฟสนี้ประมาณ 5.25 หมื่นล้านบาท 

“เราไม่เคยบอกว่า จะไม่ต่อหรือไม่ทำต่อ ต้องดูว่า กำลังซื้อประเทศมีหรือไม่ ประชาชนได้ประโยชน์หรือไม่ ถ้าได้ประโยชน์รัฐบาลก็พร้อมพิจารณา แต่ทำให้ประชาชนตื่นตัว รู้จักใช้เทคโนโลยี การจ่ายเงินผ่านเป๋าตังโดยใช้มือถือ ก็เป็นเรื่องหนึ่ง ที่ให้ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ประชาชนไปด้วย”

อย่างไรก็ตาม จะต้องรอให้มีการประเมินผลโครงการว่ามีผลต่อการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศได้มากน้อยเพียงใด โดยจะประเมินในช่วงไตรมาสที่สองของปีนี้ ระหว่างนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ผ่านโครงการ “เราชนะ” โดยจ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ให้กับประชาชนอาชีพอิสระและไม่เป็นผู้ที่มีฐานะจำนวนประมาณ 31 ล้านคน คนละ 3,500 บาท เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มเดือนก.พ.- มี.ค.นี้

การจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนในรอบนี้ รัฐบาลก็เลือกที่จะไม่จ่ายเป็นเงินสดเหมือนครั้งแรก ยึดนโยบายที่ต้องการให้ประชาชนเข้าสู่สังคมไร้เงินสด โดยให้ประชาชนนำเงินที่ได้นี้ ไปใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านแอพพลิเคชั่น ”เป๋าตัง” เหมือนกับโครงการคนละครึ่ง โดยให้เหตุผลว่า เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 ที่จะมาจากเงินสด และ ที่สำคัญเม็ดเงินนี้ จะลงไปสู่ร้านค้ารายย่อย ไม่ใช่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งกระแสตอบรับจากประชาชนบางส่วนอาจจะไม่ดีเท่ากับโครงการคนละครึ่ง