‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘แข็งค่า’ที่29.98บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘แข็งค่า’ที่29.98บาทต่อดอลลาร์

ตลาดเงินจับตานโยบายการคลังสหรัฐเพิ่มเติม ความเสี่ยงอยู่ที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้านเงินบาท คาดแกว่งตัวในกรอบแคบระยะสั้น ด้านนักลงทุนต่างชาติก็ระมัดระวังตัวสูงขึ้นเมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในทวีปเอเชียเกิดติดขัด จึงมีแรงขายสกุลเงินเอเชียสลับกันไป เกาะติดทิศทางของตลาดทุนในสัปดาห์นี้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.98 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่30.00 บาทต่อดอลลาร์ และประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ในสัปดาห์นี้ประเด็นที่ต้องจับตาคือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) และการค้าปลีกในญี่ปุ่น

โดยการประชุม FOMC จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม คาดว่าคณะกรรมการจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับดับ0.00-0.25% และปริมาณการซื้อพันธบัตรรัฐบาลและ MBS ที่ระดับ 8 และ 4 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนตามลำดับ เชื่อว่าที่น่าจับตาที่สุดคือการส่งสัญญาณของคณะกรรมการแต่ละท่านเกี่ยวกับจังหวะในการลดนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงในอนาคต (Forward Guidance) โดยในปัจจุบันตลาดมองว่าน่าจะเกิดขึ้นเร็วที่สุดในช่วงครึ่งหลังของปี 2022

ส่วนในฝั่งเอเชียต้องจับตาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยมองไปที่ตัวเลขการค้าปลีกในญี่ปุ่น (Japan Retail Sales) ที่จะประกาศในวันพฤหัส คาดว่าจะหดตัว 1.0% ในเดือนธันวาคมเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ช้าเนื่องจากปัญหาการระบาดอีกครั้งของโควิด-19 สะท้อนภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีโอกาสกลับไปทดถอยอีกครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

ส่วนในฝั่งตลาดเงินต้องจับตาไปที่นโยบายการคลังสหรัฐเพิ่มเติมเนื่องจากจะมีการนำแผนงบประมาณ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์เข้าสู่สภาสูง ถ้าผ่านทั้งหมดจะเป็นลบกับเงินดอลลาร์และเป็นบวกกับสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง (Risk On) ส่วนความเสี่ยงอยู่ที่ผลกระทบของการระบาดรอบใหม่ แนะนำจับตาตัวเลขจีดีพีสหรัฐไตรมาสสี่ (รายงานครั้งแรก) ที่จะมีการรายงานในช่วงวันพฤหัส ถ้าพลิกกลับไปหดตัวอาจกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยงได้เช่นกัน มองกรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 89.80-90.80จุด ระดับปัจจุบัน 90.23จุด

ส่วนเงินบาท เชื่อว่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบในระยะสั้น แม้จะมีความคาดหวังว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าจากนโยบายการคลังอยู่ แต่นักลงทุนต่างชาติก็ระมัดระวังตัวสูงขึ้นเมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในทวีปเอเชียเกิดติดขัด จึงมีแรงขายสกุลเงินเอเชียสลับกันไป สัปดาห์นี้มองว่าต้องจับตาไปที่ทิศทางของตลาดทุน เนื่องจากเป็นช่วงการประกาศผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ซึ่งน่าจะมีทั้งประเด็นบวกและลบผสมผสานกัน

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า สำหรับกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.05 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาท สัปดาห์นี้ที่ระดับ 29.85-30.15 บาทต่อดอลลาร์

เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways ในระยะสั้น โดยในกรณีที่ ตลาดปิดรับความเสี่ยงจากความผิดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์การระบาด COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น เช่น มีการกลายพันธุ์ รวมทั้งกรณีที่วัคซีนไม่สามารถช่วยลดการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่าได้เร็วและแรง (Short Squeeze) เพราะผู้เล่นส่วนใหญ่ในตลาดมีสถานะการขายเงินดอลลาร์สุทธิ (Short positions) อยู่ในระดับที่สูง กลับกันเงินดอลลาร์ก็พร้อมอ่อนค่าได้ต่อ จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากของเฟด

ส่วนในฝั่งเงินบาท  ยังคงมีทิศทางเคลื่อนไหวตามเงินดอลลาร์และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ต้องระวังแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน โดยผู้นำเข้าส่วนมากรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 29.85-29.90 บาท/ดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังไม่แข็งค่าไปมากในระยะสั้น ส่วนผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.10-30.15บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ +/- 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ชัดเจน

ในสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ตลาดจะรอดูผลการประชุมเฟดในวันพฤหัสฯ รวมถึง รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อาทิ บริษัทเทคฯขนาดใหญ่ อย่าง Apple, Microsoft และ Tesla เป็นต้น ขณะเดียวกัน รายงานภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ เยอรมนี และไต้หวัน ก็จะเป็นที่สนใจของตลาด โดยเรามองว่า ทิศทางของกลุ่มประเทศที่จัดการกับปัญหาการระบาดของ COVID-19 ได้ดี ก็จะดูสดใสมากกว่ากลุ่มประเทศที่ยังคงเผชิญการระบาดระลอกใหม่