KEXชี้รายได้โค้งแรกโตกว่า10% โควิดดันวอลุ่มขนส่งพื้นที่เสี่ยงพุ่ง

KEXชี้รายได้โค้งแรกโตกว่า10% โควิดดันวอลุ่มขนส่งพื้นที่เสี่ยงพุ่ง

KEXคาดรายได้ไตรมาส1/64โตไม่ต่ำกว่า 10%จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุ โควิดระลอกใหม่หนุนการปริมาณการขนส่งพุ่ง 20-30% โดยเฉพาะ 5 จังหวัดพื้นที่สีแดง พบกลุ่มผู้บริหารแพลนบี “กัลฟ์ โฮลดิ้งส์”ได้รับจัดสรรหุ้นไอพีโอ

นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานปฏิบัติการ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) หรือ KEX เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ในช่วงไตรมาส1ปี 2564 คาดว่าจะเติบโตได้ 2 หลัก จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19รอบใหม่ ทำให้ประชาชนมีการสั่งซื้อหรือขายสินค้าผ่านออนไลน์ และมีการส่งพัสดุมากขึ้น โดยเฉพาะ 5 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมถึงพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทำให้บริการการส่งของในพื้นที่ดังกล่าวปรับตัวสูงขึ้นมาก

สำหรับผลการดำเนินงานทั้งปี2564 คาดว่าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี2563 เนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียมีการเติบโตต่อเนื่องต่อเนื่องปีละ 2 หลัก แต่รายได้ปีนี้ของบริษัทอาจจะไม่ได้โตถึง2 หลัก เพราะ ปีนี้บริษัทได้ลดราคาค่าส่งลง โดยเริ่มต้น25 บาท จากเดิมที่ 30 บาท แต่จะชดเชยด้วยปริมาณการส่งของที่เพิ่มขึ้นและทำให้ลูกค้าบุคคลที่ส่งถึงบุคคล (C2C)เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น จึงทำให้รักษาอัตรากำไรสุทธิ(เน็ตมาร์จิน)ให้เท่าเดิมได้

ส่วนกรณีที่ลาซาด้า และช้อปปี้ จะหันมาทำขนส่งเองมากขึ้นนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัท เพราะ ทั้ง2 ราย ยังคงใช้บริการขนส่งจาก“เคอรี่”ในสัดส่วนที่สูงอยู่ไม่ได้ลดปริมาณการใช้บริการลง ซึ่งสาเหตุที่ 2รายมีการขนส่งเองมากขึ้น เพราะ ปริมาณการส่งของที่เพิ่ม ทำให้จำเป็นต้องเพิ่มช่องทางในการส่งของให้กับลูกค้า

 “ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของบริษัทมาจาก ส่วนใหญ่ 60% มาจากการส่งของบุคคลส่งถึงบุคคล (C2C) อีก 30%ธุรกิจส่งถึงบุคคล (B2C)เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้าส่งให้ลูกค้า และ10% ธุรกิจส่งถึงธุรกิจ (B2B)เช่น ทรู ส่งของให้กับสาขาของตัวเอง ฯลฯ”

อย่างไรก็ตาม จากโควิด-19 ระบาดนั้น ทำให้บริษัทต้องเลื่อนการเปิดสาขาในช่วงไตรมาส1ปีนี้ เพราะ มีข้อจำกัดในการเดินทางเพื่อดูสถานที่และการก่อสร้าง แต่ภายในปีนี้จะยังคงเดินหน้าตามแผนที่วางไว้ เพราะบริษัทต้องการเพิ่มสาขาเพื่อเข้าถึงแหล่งชุมชนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ลูกค้ามีความสะดวกในการเดินทางมาส่งของ

นายอิศรินทร์ ภัทรมัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการลงทุน KEXกล่าวว่า กรณีที่กรรมการ และผู้บริหารของบริษัทมีการขายหุ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น ซึ่งกรณีนาย คิน เฮ็ง เน็งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จำนวน 3.5 ล้านหุ้น   นายชุน ซัง ฉ่อย,จำนวน 3 ล้านหุ้น นายวราวุธ นาถประดิษฐ์  2 ล้านหุ้น,นางสาว วันวิสาข์ ทัศนปรีชาชัย จำนวน1 ล้านหุ้น  เป็นการขายให้กับทาง ฺบริษัท  บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)หรือ BTS เพราะเชื่อมั่นใจธุรกิจของบริษัทและต้องการเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับทางบริษัท ส่วนกรรมการท่านอื่นที่ขายหุ้นนั้นเป็นการขายด้วยเหตุผลส่วนตัวแต่ปริมาณหุ้นที่ขายออกมานั้นไม่มาก เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นที่ถือ

อย่างไรก็ตาม ปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาด (ฟรีโฟลท)ของบริษัทปัจจุบันอยู่ที่ 25% ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แต่บริษัทมีความต้องการที่จะทำให้ฟรีโฟลทหรือสภาพคล่องหุ้นของบริษัทเพียงพอเพื่อให้นักลงทุนทุกกลุ่มสามารถเข้ามาซื้อขายหุ้นได้ ซึ่งทางคณะกรรมการบริษัทก็จะต้องมีการหารือแนวทางกันต่อไป

จากแบบรายงานผลการจัดสรรหุ้นไอพีโอของ เคอรี่ พบว่า ในส่วนของนักลงทุนบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้น ผู้ที่ได้รับจัดสรรสูงสุด 3อันดับแรก คือ อันดับ1. นายปรินทร์ โลจนะโกสินทร์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แพลน บี มีเดีย ( PLANB)   และ นายพินิจสรณ์ ลือชัยขจรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ  PLANB ได้รับจัดสรรรายละ 1.8  ล้านหุ้น มูลค่า 50.40 ล้านบาท อันดับ2. นายทีปกร โลจนะโกสินทร์   จำนวน 1.3 ล้านหุ้น มูลค่า 36.40 ล้านบาท  อันดับ3.นางกรัณฑ์รัตน์ ระหว่างบ้าน  จำนวน 1.208  ล้านหุ้น มูลค่า 33.84 ล้านบาท

ส่วนนักลงทุนสถาบันที่ได้รับจัดสรรหุ้นมากสุด  3 อันดับแรก Credit Suisse (Singapore)Limited จำนวน 107.13 หุ้น มูลค่า2,999.78 ล้านบาท 2.CITIGROUP GLOBAL MARKETS LIMITED  จำนวน36.46 ล้านหุ้น มูลค่า1,021.03 ล้านบาท 3.กองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 3.48  ล้านหุ้น มูลค่า  97.50 ล้านบาท และพบ บริษัท กัลฟ์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ได้รับจัดสรร จำนวน 1  ล้านหุ้น ราคา 28 ล้านบาท 

     แหล่งข่าว กล่าวว่า กรณีที่ผู้บริการของPLANB ได้รับจัดสรรหุ้นในส่วนของผู้มีอุปการคุณของบริษัท เพราะ ที่ผ่านมาทางผู้บริหารของ PLANB ให้คำแนะนำในการดำเนินงานธุรกิจกับทางบริษัท จึงได้รับจัดสรรในส่วนนี้