สรรหา ‘บอร์ดกสทช.’ วุ่น ผู้ตกรอบเตรียม ‘ยื่นอุทธรณ์’

สรรหา ‘บอร์ดกสทช.’ วุ่น ผู้ตกรอบเตรียม ‘ยื่นอุทธรณ์’

สรรหา กสทช.ชุดใหม่วุ่นหนัก ถูกตั้งคำถาม คณะกรรมการสรรหาฯ ไม่พิจารณาคุณสมบัติผู้สมัคร กลับเรียกแสดงวิสัยทัศน์ทั้ง 80 คน พร้อมประกาศผลผู้ผ่านรอบแรกทั้งที่บางรายมีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้ตกรอบเตรียมยื่นอุทธรณ์

คนหลุดโผ ‘ติดใจ’ จ่อยื่นอุทธรณ์ 

แหล่งข่าวผู้สมัครที่ไม่ผ่านการสรรหารอบแรก ระบุว่า หากพิจารณาตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการประมวลข้อมูลจากใบสมัคร และเอกสารประกอบของผู้สมัครนั้นไม่มีการตรวจสอบ โดยปล่อยให้ทั้ง 80 คน ผ่านคุณสมบัติเข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งควรเป็นสิ่งที่ต้องตั้งข้อสังเกตว่า ประธานกรรมการสรรหา และคณะกรรมการได้ทำหน้าที่อย่างดีแล้วหรือไม่ เพราะหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่ามีผู้สมัครบางคนมีความเกี่ยวพันกับองค์กรกสทช.อย่างชัดเจน ทั้งเป็นผู้บริหารที่รับใบอนุญาตจากกสทช.ซึ่งขัดต่อข้อกฎหมาย

รายงานข่าวระบุว่า รายชื่อผู้ผ่านการสรรหารอบแรกที่ประกาศ 14 คน ค่อนข้างพลิกโผเพราะหากดูรายชื่อด้านกิจการกระจายเสียง ด้านกิจการโทรทัศน์ และด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีบุคคลในแวดวงโทรคมนาคมและที่เกี่ยวข้อง ต้องเข้าแสดงวิสัยทัศน์และสัมภาษณ์ เช่น พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ อดีตเลขาธิการ กสทช. 

ส่วนด้านวิศวกรรมและด้านกฎหมาย อาทิ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ รองเลขาธิการ กสทช. , พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และด้านเศรษฐศาสตร์ อาทิ นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ไม่ผ่านการสรรหาเช่นกัน โดยผู้ที่ไม่ผ่านการสรรหากำลังยื่นอุทธรณ์ตามสิทธิ ม.49 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา พ.ศ.2542

ดีอีเอสหวังกสทช.ดัน5จี-พื้นฐานดิจิทัล

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า หากการสรรหากรรมการ กสทช.ล่าช้า จะส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพราะสำนักงาน กสทช.เป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ประกอบกับปัจจุบันมีหลายเรื่องที่ต้องผ่านการตัดสินใจของกรรมการ กสทช. เช่น การขยายโครงข่ายพื้นฐานของประเทศ การพิจารณาจัดการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ และการจัดการประมูลวงโคจรดาวเทียม

“การเร่งพัฒนา 5จี ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เป็นเหตุผลหลักที่พยายามผลักดันภายใต้ พ.ร.บ.เดิม โดยกรรมการ กสทช.ต้องทำงานเร็ว เข้มแข็ง เชิงรุก ซึ่งต่างจากชุดรักษาการปัจจุบัน ที่มีหลายเรื่องไม่กล้าตัดสินใจ เพราะเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับอนาคต ดังนั้น กระบวนการสรรหากรรมการ กสทช.ล่าช้าเท่าไร ยิ่งทำให้หลายเรื่องที่ควรพิจารณาล่าช้าไปกันใหญ่”

รอบอร์ดใหม่ตัดสินใจประมูลคลื่น

ขณะที่สำนักงาน กสทช.เคยประกาศแผนการทำงานขององค์กรปี 2564 ว่า ได้เตรียมแผนประมูลคลื่น 5จี ปี 2564 ซึ่งจะเตรียมความพร้อมนำคลื่น 3500 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 300 เมกะเฮิรตซ์ มาประมูล หากสำนักงาน กสทช.ดำเนินการหลักเกณฑ์ เช่น คลื่นที่ต้องกันมาทำการ์ดแบนด์ เพื่อไม่ให้สัญญาณรบกวน ต้องใช้เท่าไหร่ รวมถึงการศึกษาเงินเยียวยาคลื่นให้ผู้ใช้จานดำ 10 ล้านราย ซึ่งจะศึกษาในไตรมาส 2-3 ปีนี้

ทั้งนี้ สำนักงานฯ ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับเป็นข้อมูลให้ กสทช.ชุดใหม่ตัดสินใจได้ทันที คาดจะออกหลักเกณฑ์ประมูลภายในปลายปี 2564 นอกจากนี้ ยังมีคลื่นอื่นที่คาดว่าจะต้องเตรียมมาประมูลอีก ได้แก่ คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เหลืออยู่ 35 เมกะเฮิรตซ์ และ คลื่น 28 กิกะเฮิรตซ์ จำนวน 2 กิกะเฮิรตซ์ รวมถึงต้องทำมาตรฐานการให้บริการ 5จี ด้วย

นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช.ต้องเร่งผลักดันให้เกิดยูสเคส 5จี ใหม่ต่อจากปี 2563 ที่ได้เริ่มกับภาคการเกษตร สาธารณสุขและการท่องเที่ยว โดยปีนี้จะเพิ่มกลุ่มการศึกษา ซึ่งอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรสถาบันการศึกษา กลุ่มคมนาคมขนส่ง เช่น การทำสถานีบางซื่อให้เป็นสถานี 5จี และกลุ่มการบริหารทรัพยากรน้ำ ซึ่งทำร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระภายใต้งบ 20 ล้าน ใช้เวลา 6 เดือน เพื่อติดเซ็นเซอร์ตามแปลงเกษตรกรเพื่อควบคุมการปล่อยน้ำให้เหมาะสมกับการทำการเกษตรตามฤดูกาล

ทั้งนี้ กสทช.จะทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ซึ่งจะเสนอคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใน ม.ค.นี้

กมธ.ชงบทเฉพาะกาล

นางเพ็ญพักตร์ ศรีทอง ส.ว.ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ... วุฒิสภา กล่าวว่า กมธ.ฯ พิจารณารายละเอียดเกือบทุกมาตราแล้วแต่ยังไม่สรุปว่าจะแก้ไขรายละเอียดใดจากร่างที่รับมาจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะต้องรอฟังการแปรญัตติของ ส.ว.ก่อน

เบื้องต้นมี ส.ว.ที่เสนอคำแปรญัตติ 8 คน โดยร่างกฎหมายดังกล่าว กมธ.จะทำให้แล้วเสร็จต้นเดือน ก.พ.เพื่อส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณาทันก่อนปิดสมัยประชุม วันที่ 28 ก.พ.

ส่วนกรณีที่วุฒิสภาต้องลงมติให้ความเห็นชอบบุคคลที่ถูกเสนอให้เป็นกรรมการ กสทช.ชุดใหม่นั้น กมธ.ฯได้หารือร่วมกันด้วยว่าจะมีเนื้อหาใดเพื่อรองรับหรือไม่ เพราะตามกฎหมายกำหนดว่าหากร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ กรรมการที่ดำรงตำแหน่งต้องพ้นไป ซึ่งอาจทำให้ไม่ได้รับความเป็นธรรม

“เบื้องต้น กมธ.ยอมรับในรายละเอียดว่า กรณีที่กรรมการ กสทช.ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 3 ปี จะให้สิทธิลงสมัคร กสทช.ได้อีกสมัย จากเดิมที่กฎหมายกำหนดว่า กรรมการ กสทช.มีวาระ 6 ปี และเป็นได้สมัยเดียวตามที่ร่างเสนอมาจาก ส.ส.เสนอมา”

นายนิพนธ์ นาคสมภพ ส.ว.ในฐานะ กมธ.ฯ กล่าวว่า สัปดาห์หน้า กมธ.ฯ จะเชิญ ส.ว.ที่เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะแล้วเสร็จในการประชุม 2 นัดหรือไม่ เพราะมีผู้ขอแปรญัตติ 20-30 คน และมีหลายประเด็น ส่วนกรณีที่กรรมการ กสทช. ซึ่ง ส.ว.เตรียมลงมติให้ความเห็นชอบล่าสุดนั้น ยอมรับว่ามีประเด็นที่หารือแต่ไม่ได้ข้อยุติว่าต้องพ้นไปหรือเขียนบทเฉพาะกาลให้ทำหน้าที่ต่อ

“หากเนื้อหาร่างกฎหมายถูกปรับแก้ไข ต้องส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอีกครั้ง ดังนั้นการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ อาจต้องรอพิจารณาในการประชุมสมัยหน้าเดือน พ.ค.”