การออกแบบการเรียนรู้จะง่ายขึ้น ถ้า'สมอง'ผู้หญิงและผู้ชายไม่ต่างกัน

การออกแบบการเรียนรู้จะง่ายขึ้น ถ้า'สมอง'ผู้หญิงและผู้ชายไม่ต่างกัน

ว่ากันว่า งานวิจัยสมองในอนาคต อาจไม่ต้องแยกวิจัยในเพศใดเพศหนึ่ง เพราะเห็นได้ชัดว่ามีความแตกต่างน้อยมาก จนไม่มีนัยสำคัญ ถ้าอย่างนั้น การออกแบบระบบการเรียนการสอนก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงเรื่องเพศสภาพของผู้เรียนมากจนเกินไป

ย้อนกลับไปกลางคริศต์ศตวรรษที่ 19 นักวิจัยเคยอ้างกันว่า พวกเขาแค่ดูสมอง ก็บอกได้ว่าเจ้าของเป็นชายหรือเป็นหญิง แต่ถึงตอนนี้ดูท่าว่าคำพูดทำนองนี้จะกลายเป็นเรื่องเข้าใจผิด หรือไม่ก็เกินจริงไปเสียแล้ว

งานวิจัยของ แดปนา โจเอล (Daphna Joel) นักประสาทวิทยาศาสตร์พฤติกรรม (behavioral neuroscientist) จากมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟในประเทศอิสราเอล ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Proceedings of the National Academy of Sciences หรือ PNAS ในวันที่ 30 พ.ย. 2015 ชี้ว่า สมองแทบจะทั้งหมดมีโครงสร้างที่ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่า จำเพาะกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้น

ทีมงานของโจเอล เค้าทำการทดลองโดยใช้เทคนิคการสร้างภาพสมองแบบ MRI และแบบ diffusion tensor imaging เทคนิคแรกนี่ใช้สำหรับตรวจวัดปริมาตรสมองส่วนที่เรียกว่า เกรย์แมตเทอร์ (gray matter) หรือส่วนที่มีสีเข้มกว่าและเห็นเป็นจุดเป็นปุ่ม

เนื่องจากมีแกนของเซลล์ประสาทอยู่ และส่วนที่เป็นสีอ่อนกว่าเรียกว่า ไวต์แมตเทอร์ (white matter) ซึ่งเป็นส่วนที่มีเส้นใยประสาทที่ใช้ส่งกระแสประสาทในสมองอยู่

ส่วนเทคนิคหลังใช้สำหรับติดตามการแผ่สาขาของเส้นใยประสาทไปเชื่อมโยงกับสมองส่วนอื่นๆ ที่อยู่ห่างออกไป เขาทดสอบกับอาสาสมัครมากถึงกว่า 1,400 คน โดยผลที่ได้ก็คือ ทีมงานพบว่ามีความแตกต่างด้านโครงสร้างอยู่น้อยมาก ระหว่างสมองของชายกับหญิง

จนอาจกล่าวโดยรวมได้ว่า ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจน

ตัวอย่างความแตกต่างที่ว่า เช่น สมองส่วนฮิปโปแคมปัสด้านซ้าย ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องความจำ ในผู้ชายมักจะใหญ่กว่าผู้หญิง แต่อย่างไรก็ตาม หากลงไปดูในรายละเอียดก็จะพบว่า ผู้หญิงหลายคนก็มีสมองส่วนนี้ที่ใหญ่กว่าขนาดโดยเฉลี่ยของผู้ชายทั่วไป และในทางกลับกัน ผู้ชายบางคนก็อาจมีสมองส่วนนี้เล็กกว่าขนาดเฉลี่ยที่พบในผู้หญิงได้เช่นกัน

เพื่อแก้ไขปัญหา “การเหลื่อม” ดังกล่าว นักวิจัยก็เลยลองทำ “แผนที่สมอง” โดยระบุสมอง “ส่วนผู้ชาย” และ “ส่วนผู้หญิง” เด่น และทำเช่นนี้ต่อเนื่องกันกับสมองทั้งก้อน เพื่อหาดูว่าจะสามารถระบุส่วนใดเด่นในผู้ชายหรือผู้หญิงได้จริงๆ หรือไม่

ผลก็คือ ราว 23-53 เปอร์เซ็นต์ของสมองมีบริเวณที่ปะปนกัน แยกไม่ได้แน่ชัดว่าเด่นในชายหรือหญิงกันแน่ และมีเพียงไม่เกิน 8% เท่านั้นที่ดูเหมือนจะแยกความเด่นแบบชายหรือหญิงออกได้ชัดเจน

คำถามจึงเกิดตามมาว่า ถ้าเช่นนั้นพฤติกรรมชายและหญิงที่แตกต่างกัน ไม่ได้เป็นผลมาจากความแตกต่างของสมองล่ะสิ ?

เมื่อทีมนักวิจัยไปวิเคราะห์ข้อมูลพฤติกรรมจำเพาะชุดใหญ่ที่ดูเหมือนจะโดดเด่นในเพศใดเพศหนึ่ง เช่น ชอบเล่นวิดีโอเกม หรือแต่งตัวตุ๊กตา ก็พบว่ามีอาสาสมัครเพียง 0.1% เท่านั้น ที่แสดงพฤติกรรมจำเพาะกับเพศใดเพศหนึ่งเท่านั้นอย่างไม่ผิดเพี้ยน จนนักวิจัยกล้าจะสรุปว่า “การกล่าวว่ามีสมองแบบชายหรือหญิงนั้น ถือว่าเป็นเรื่องไร้สาระทีเดียว”

รู้เช่นนี้แล้วจะมีประโยชน์อะไรบ้างหรือไม่ ?

นักวิจัยเชื่อว่าความรู้เรื่องนี้น่าจะสำคัญและที่ไปไกลกว่านั้นก็คือ “นิยามเพศ” อาจจะต้องมองใหม่ว่า เป็นเรื่องทางสังคมมากกว่าจะเป็นเรื่องทางชีววิทยา งานวิจัยสมองในอนาคตอาจจะไม่ต้องแยกวิจัยในเพศใดเพศหนึ่งอีกแล้ว เพราะเห็นได้ชัดเจนว่ามีความแตกต่างน้อยมากจนไม่มีนัยสำคัญ การออกแบบระบบการเรียนการสอนก็ไม่จำเป็นต้องคำนึงเรื่องเพศสภาพของผู้เรียนมากจนเกินไปอย่างสมัยก่อน 

แต่อย่างไรก็ตาม ประสางานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั่วไปนะครับ ไม่ใช่ว่าทำวิจัยเสร็จ แล้วจะตอบคำถามทั้งหมดได้เลย หากปัจจัยทางชีวภาพไม่ได้เป็นตัวกำหนดความเป็นชายหญิงโดยตรง (ที่สมอง) แต่กลับเป็นผลจากการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม

คำถามก็คือ เหตุใดโรคความผิดปกติทางจิตประสาทหลายๆ โรค จึงดูเหมือนจะผูกติดกับเพศใดเพศหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด

ตัวอย่างคือ อาการซึมเศร้ารุนแรง (major depressive disorder) ที่เป็นความผิดปกติทางจิตประสาทที่พบได้บ่อยที่สุดโรคหนึ่ง วินิจฉัยพบได้บ่อยในผู้หญิงมากเป็นเท่าตัวหากเทียบกับผู้ชาย (งานวิจัยในระยะหลังเชื่อมโยงที่มาของโรคกับประวัติในช่วงวัยเด็กเล็กมากๆ แต่ลักษณะนิสัยที่ผู้หญิงมักเรียกหาความช่วยเหลือ ขณะที่ผู้ชายมีแนวโน้มจะเยียวยาตัวเอง ผ่านการติดแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด ก็อาจจะมีส่วนด้วยเช่นกัน)

โรคเบื่ออาหารเหตุจิตใจ (anorexia nervosa) ที่พบในคนที่อยากลดน้ำหนักอย่างรุนแรง ก็พบโดดเด่นในผู้หญิง เทียบสัดส่วนกับแล้วเป็น 10: 1 เลยทีเดียว เชื่อกันว่าโรคนี้น่าจะมีความกดดันทางสังคมมาเกี่ยวข้องด้วยแน่ๆ

แต่แปลกว่าความผิดปกติแบบตรงกันข้ามคือ อาการหิวไม่หาย (bulimia nervosa) หรือพวก “กินไม่หยุด” กลับพบในสัดส่วนที่ไม่มากเท่า (แต่ก็ยังมากกว่าอยู่ดี) คือ ราว 3:1 อีกโรคหนึ่งที่แม้จะไม่พบในผู้หญิงมากกว่า แต่มีหลักฐานว่ามีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมในผู้หญิงอย่างเห็นได้ชัดก็คือ ไบโพลาร์ (bipolar disorder) หรือ “โรคสองขั้ว” ที่ผู้ป่วยมีอารมณ์แกว่งสลับไปมาระหว่างอารมณ์ดีกับซึมเศร้า

สำหรับ โรคออทิซึ่ม (autism) นั้น เดิมเชื่อว่าเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงราวเท่าตัว แต่ข้อมูลใหม่ๆ ทำให้เชื่อได้ว่า ตัวเลขที่แท้จริงอาจจะใกล้เคียงกับ 5:1 อีกโรคหนึ่งที่พบในเด็กชายมากกว่าก็คือ โรคสมาธิสั้น โดยพบบ่อยกว่าในอัตราส่วน 4:1

สุดท้ายก็คือ โรคจิตเภท (schizophrenia) ที่แม้จะไม่ชัดเจนว่า พบในเพศใดมากกว่ากัน ก็แสดงอาการในช่วงวัยที่เป็นเด็กชายมากกว่า แต่ครั้นอายุมากขึ้นก็มีสัดส่วนที่พบในผู้หญิงมากกว่า

จึงเป็นโจทย์ปัญหาให้นักวิจัยค้นคว้ากันต่อไปไม่ได้หยุด