“ดับบลิวเอชเอ”ลุยเพิ่มนิคมฯ มั่นใจไทยรอดวิกฤติโควิด

“ดับบลิวเอชเอ”ลุยเพิ่มนิคมฯ  มั่นใจไทยรอดวิกฤติโควิด

การระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปรับแผนเพื่อรองรับ “นิวนอร์มอล” แต่ในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมยังมีการขยายพื้นที่รองรับการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว

ซึ่งในเดือน ม.ค.2564 มีการลงนามตั้งนิคมอุตสาหกรรมใหม่ 2 แห่ง ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ นิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ของบริษัทสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) และ นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโก ระยอง ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน)

ในขณะที่นิคมอุตสาหกรรมอื่นในอีอีซีต่างมีแผนพัฒนาเพิ่มเติม รวมถึงบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี 9 แห่ง มีแผนที่ขยายนิคมอุตสาหกรรมในอีอีซี

จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แผนธุรกิจดับบลิวเอชเอไตรมาส 1 ไม่ได้คาดหวังอะไรมากแต่มองไตรมาส 3-4 ตัวเลขธุรกิจจะดีขึ้นซึ่งดับบลิวเอชเอจะประกาศแผนธุรกิจปี 2564 ในเดือน ก.พ.นี้ อีกครั้ง

สำหรับธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะมีการขยายทั้งในไทยและเวียดนาม โดยนิคมอุตสาหกรรมในไทยจะโฟกัสไปที่อีอีซี ซึ่งดับบลิวเอชเอจะเปิดนิคมอุตสาหกรรมเพิ่ม 3 แห่ง ในปี 2564-2566 จะทำให้มีการเปิดนิคมอุตสาหกรรมใหม่ปีละ 1 แห่ง โดยในปี 2564 มีแผนจะเพิ่มนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่ง ใน จ.ระยอง เพราะต่างชาติให้ความสนใจมาก หากเปิดประเทศให้นักลงทุนเข้ามาได้จะเข้ามาอีกมาก แนวโน้มการย้านฐานการลงทุนมาไทยมีความชัดเจน

นอกจากนี้ ดับเบิลยูเอชเอมีแผนที่จะขยายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมปัจจุบัน คือ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 จ.ระยอง ที่ได้ซื้อพื้นที่เพิ่ม 500 ไร่ และอยู่ระหว่างการขออนุมัติกับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เพราะมั่นใจว่าสถานการณ์ทุกอย่างจะดีขึ้น

161133083855

ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมปี 2564 ดีกว่าปี 2563 แน่นอน โดยจะเร่งการขายพื้นที่ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นรวมถึงการปรับนิคมอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้เน้น 5จี ซึ่งดับบิวเอชเอจะทำงานร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ขับเคลื่อนลงทุนระบบ 5จี และดึงการลงทุนเครื่องจักรกลอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (เอสไอ) และการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ 5จี ให้เกิดขึ้นเร็ว

ทั้งนี้ แม้ว่าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย แต่กลับมองว่าสถานการณ์ดีกว่าที่คาดเพราะที่ผ่านมาประเมินว่าการระบาดรอบใหม่จะเกิดขึ้นปลายปีที่ผ่านมา และวัคซีนจะเริ่มนำมาใช้ได้เร็วที่สุดในไตรมาส 2 แต่วัคซีนเริ่มนำเข้ามาฉีดให้คนไทยเดือน ก.พ.นี้ และทยอยเข้ามา ซึ่งดีกว่าที่ประเมินไว้ตอนแรก ทำให้มองว่าสถานการณ์ของไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น

ส่วนในเวียดนามจะขยายนิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามอีก 2 แห่ง ที่เป็นโอกาสดีในการขยายการลงทุนทั้งในไทยและเวียดนาม โดยจีนจะใช้ไทยเป็นฐานการลงทุนในภูมิภาคนี้ ซึ่งเวียดนามเป็นพื้นที่ที่ร้อนแรงและมีแผนจะเพิ่มนิคมอุตสาหกรรมที่เวียดนามไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งช้ากว่าแผนเล็กน้อยเพราะโควิด-19 

นอกจากนี้ ในปี 2564 จะมีการขยายธุรกิจทั้งในกลุ่มโลจิสติกส์ที่จะขยายคลังสินค้าเพิ่ม 4-5 แห่ง เพราะการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ

ส่วนการระบาดของโควิด-19 ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอได้ดูแลการเข้าออกเข้มงวด และรักษามาตรฐานสุขอนามัยสูงสุด รวมทั้งยังได้จัดแบงพนักงานดับบลิวเอชเอเป็น 2 ทีม ซึ่งทั้ง 2 ทีมจะไม่ได้เจอกันเลย หากทีมใดติดโควิด-19 อีกทีมก็มาทำงานทดแทนได้ทันที และได้ขยายความร่วมมือป้องกันร่วมกับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิด

“นิคมฯ ขอดับบลิวเอชเอ ส่วนใหญ่แรงงานจะเป็นคนไทย มีแรงงานต่างชาติน้อยมากคิดเป็นเพียง 2.8% จากแรงงานทั้งหมดกว่า 2 แสนคน และแรงงานต่างชาติจะเป็นญี่ปุ่น และยุโรป ไม่กี่พันคน ต่างจากโรงงานในสมุทรสาครที่เป็นอุตสาหกรรมประมงที่มีแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านมาก" 

161133095183

รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี สินค้าคอนซูเมอร์ ซึ่งเป็นแรงงานชั้นสูงมีมาตรการดูและและมีที่พักที่ดี ทำให้ไม่กระทบ แต่ทั้งนี้จากการตรวจสอบ พบมีการติดโควิด 4 โรงงาน โรงงานละ 1 คน แต่ละโรงงานใช้มาตรการเข้าควบคุมเคร่งครัด โดยจะเป็นโรงงานต่างชาติที่มีมาตรฐานที่รัดกุมเข้มงวดสูงสุด

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่บ้าง ทำให้นักลงทุนต่างชาติชะลอเข้ามาลงนามสัญญา คาดว่าการระบาดในไทยจะเรียนร้อยภายใน 1-2 เดือน ขอดูอีกประมาณ 2 สัปดาห์จากหลักปีใหม่ จะดูว่าการระบาดขนาดใหญ่ หากรัฐบาลใช้มาตรการที่เข้มข้นคาดว่าจะควบคุมได้ภายใน 1 เดือน

รวมทั้งต้องการให้รัฐบาลควบคุมให้เร็วที่สุด แต่รัฐบาลมองเฉพาะการรับมือเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะจะต้องใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย จึงเห็นว่าควรมองควบคู่กัน 2 ประเด็น คือ 1.การเยียวยา ที่รัฐบาลพยายามทำอยู่ในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ 

2.การกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทีมเศรษฐกิจจะต้องกระตุ้นการลงทุน รวมถึงดึงการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาทั้งการจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) เช่น เขตการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) และความตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) ที่เวียดนามลงนามข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับแล้ว ทำให้ไทยเสียเปรียบในการดึงดูดการลงทุน ดังนั้นไม่ต้องรอให้โควิด-19 หมด ต้องเร่งทำไปพร้อมกัน รวมถึงเร่งเดินหน้าลงทุนในอีอีซีทั้งของภาคเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในอีอีซีเพราะมีเงินพร้อมอยู่แล้ว