'เราชนะ' กลุ่ม 'เกษตรกร' ต้องรู้ ไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิ อ่านหลักเกณฑ์ให้ชัด!

'เราชนะ' กลุ่ม 'เกษตรกร' ต้องรู้ ไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิ อ่านหลักเกณฑ์ให้ชัด!

เคลียร์ดราม่า “เราชนะ” เยียวยาเกษตรกร ไม่ใช่ทุกรายที่จะได้เงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน คลังแจงชัด กลุ่มไหนได้ กลุ่มไหนไม่ได้ และกลุ่มไหนไม่ต้องลงทะเบียนก็รอรับเงินได้เลย

คืบหน้ามาตรการ “เราชนะ” หลังจากกระทรวงการคลังออกมาระบุเกี่ยวกับ “เกษตรกร” ว่า เยียวยาโควิดรอบนี้ ไม่ใช่เกษตรกรทุกรายจะมีสิทธิรับเงินเยียวยา 3,500 บาท 2 เดือน รวมเป็น 7,000 บาทแบบถ้วนหน้าทุกรายอย่างที่เคยได้จากมาตรการ “เยียวยาเกษตรกร” ครั้งก่อน

โดยจะมีบางกลุ่มถูกตัดสิทธิ ไม่สามารถรับเงินเยียวยาเราชนะได้ ขณะที่บางกลุ่มมีสิทธิรับเงิน แต่ก็ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ.com เสียก่อน และกลุ่มที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ก็ได้รับสิทธิโดยอัตโนมัติ

ทั้งๆ ที่จากมาตรการ “เยียวยาเกษตรกร” ครั้งก่อน กลุ่มเกษตรกรไม่ต้องลงทะเบียนเพราะถือว่า รายชื่ออยู่ในระบบฐานข้อมูลภาครัฐ คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อยู่แล้ว แต่พอมาถึงมาตรการ “เราชนะ” ในครั้งนี้ กลับเป็นกลุ่มเกษตรกรที่จะต้องลงทะเบียนรับสิทธิแทน

เรื่องนี้ กระทรวงการคลัง ได้ออกมาชี้แจงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จะนำมาสรุปแบ่งเป็นประเด็นๆ ให้อ่านกันชัดๆ ถึงข้อสงสัยที่ว่ามาทั้งหมด ดังนี้ 

     

  • เข้าใจเกณฑ์การคัดเลือก ตามนิยาม “เราชนะ”

เริ่มต้นทำความเข้าใจกันที่วัตถุประสงค์ของมาตรการ “เราชนะ” กันก่อน โดยมาตรการเราชนะมีเพื่อช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ด้วยการสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน โดยจ่ายเป็นรายสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 2 เดือน (จ่ายเดือนกุมภาพันธ์ - เดือนมีนาคม 2564) 

โดยการคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิ์จะคำนึงจากสองเรื่อง คือ 

- หนึ่ง ความสามารถในการจ่ายค่าครองชีพ
- สอง การมีระบบคุ้มครองทางสังคมเป็นหลัก

  • เข้าใจ "คุณสมบัติ" ผู้ได้รับสิทธิ

ทั้งนี้ การช่วยเหลือจะครอบคลุมประชาชนหลากหลายกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร เป็นต้น ซึ่งกำหนดคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิ์ ดังนี้

เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
X ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ยกเว้นเป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ก่อนแล้ว)
X ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง
X ไม่เป็นข้าราชการการเมือง
X ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
X ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ในปีภาษี 2562
X ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ณ วันที่ 31 ธ.ค.62

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

161133356459

  

  • "เกษตรกร" เข้าข่ายเพียง "เบื้องต้น" ที่จะรับเงิน “เราชนะ”

แม้ว่า​ “เกษตรกร” ถือเป็นหนึ่งใน “ผู้ประกอบอาชีพอิสระ” ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะได้รับเงินเยียวยา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะมีสิทธิได้รับเงินเยียวยาได้เลยโดยอัตโนมัติ เพราะจะต้องผ่านเกณฑ์ข้างต้นให้ได้เสียก่อน ยกตัวอย่างเช่น 

นาย A เป็น "เกษตรกร" ซึ่งมีชื่อในฐานข้อมูลสมุดทะเบียนเกษตรกรแล้ว แต่ถ้านาย A เป็น ข้าราชการ หรือ ข้าราชการบำนาญ ด้วย ก็จะถูกตัดสิทธิออกในทันที 

หรือ นาย B เป็นแรงงานในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และเช่นกันว่า ถึงจะมีชื่อในทะเบียนเกษตรกร ก็จะไม่ได้รับสิทธินี้เช่นกัน

ส่วน นาย C แม้จะเป็นเกษตรกรที่ยากจน มีเงินได้ไม่ถึง 3 แสนบาทต่อปี ส่วนเงินฝากก็น้อยนิด แต่หากนาย C เป็นผู้มี “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” นาย C ก็จะได้รับวงเงินช่วยเหลือ 7,000 บาท ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว และไม่สามารถมารับสิทธิซ้ำในกลุ่มอาชีพอิสระอย่าง เกษตรกร ได้

ทั้งนี้ สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็จะมีการตรวจสอบในกลุ่มผู้ที่มีแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้

   

  • เกษตรกรกลุ่มไหน ต้องลงทะเบียนใหม่บ้าง?

คำถามหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่เคลียร์ ก็คือ ตกลง เกษตรกรต้องลงทะเบียนรับเงินเราชนะหรือไม่? 

ในเรื่องนี้ เราต้องแบ่ง "เกษตรกร" ออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการรับสิทธิที่แตกต่างกัน ดังนี้ 

1. เกษตรกร ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วย >> เกษตรกรกลุ่มนี้ จะได้รับเงินเราชนะได้เลยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม

2. เกษตรกร ผู้มีแอพพลิเคชั่น "เป๋าตัง" ผ่านการรับสิทธิ “คนละครึ่ง” และ “เราเที่ยวด้วยกัน” มาก่อนแล้ว  >> กลุ่มนี้  ไม่ต้องลงทะเบียน แต่ต้องยินยอมเข้าถึงข้อมูล

3. เกษตรกร กลุ่มที่เหลือ >> กลุ่มนี้ต้องลงทะเบียนใหม่ลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com เนื่องจากฐานข้อมูลของกระทรวงเกษตรฯ ที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้นั้น เป็นฐานข้อมูลครัวเรือน ไม่ใช่รายบุคคล ดังนั้น เพื่ออัพเดทข้อมูลรายตัวเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจึงต้องลงทะเบียนใหม่อีกครั้งเพื่อให้สามารถเยียวยาเกษตรกรได้อย่างตรงจุด (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิกที่นี่ )

ข่าวที่น่าสนใจ :  

ทั้งนี้ สามารถติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเราชนะได้ผ่านเว็บไซต์ https://www.mof.go.th