'PTT' ปั้น 'OR' โกยมั่งคั่ง ครั้งใหม่ !

'PTT' ปั้น 'OR' โกยมั่งคั่ง ครั้งใหม่ !

เปิดปฏิบัติการ "PTT" สร้างความมั่งคั่ง ครั้งใหม่ ! หลัง ปตท. ผลักดันหุ้น "OR" เข้าระดมทุน ก.พ.นี้ อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ วางกลยุทธ์ 'โออาร์' เรือธงน้ำมันและค้าปลีก พร้อมเปิดเกมรุกวางงบ 5 ปี (25464-2568) เทเงินลงทุนสู่ธุรกิจมาร์จินสูง...

เป็นกระแสฟีเวอร์ (Fever) หุ้น IPO มหาชนแห่งปี !

สำหรับ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันและค้าปลีก ลูกคนสุดท้องของบริษัทแม่อย่าง บมจ.ปตท.หรือ PTT ผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 75% (ตัวเลขหลังเสนอขายหุ้น IPO) กำลังเป็นที่ 'ฮอตฮิต' ในแวดวงนักลงทุนหน้าเก่า-ใหม่ แสดงความต้องการจองซื้อหุ้น IPO อย่างล้นหลาม

ด้วยวัตถุประสงค์ของผู้ถือหุ้นใหญ่ (ปตท.) ต้องการกระจายหุ้น OR สู่นักลงทุนรายย่อยทั่วถึงมากสุด บ่งชี้ผ่านทุกคนมีสิทธิจองหุ้นเริ่มต้น 300 หุ้นขึ้นไป... ทำให้เห็นปรากฏการณ์แห่จองหุ้นที่มาแรงมากขนาดนักลงทุนที่ไม่เคยลงทุน (ไม่มีพอร์ต) ยังสนใจอยากเป็นเจ้าของ !

โดย OR กำหนดราคาเสนอขายหุ้นไอพีโอที่ 16-18 บาท และจะเริ่มเปิดให้รายย่อยจองซื้อได้ในวันที่ 24 ม.ค.-2 ก.พ.2564 ก่อนที่จะให้ผู้ถือหุ้น ปตท.และนักลงทุนสถาบันจองเป็นลำดับต่อไป ซึ่งจะเข้าซื้อขาย (เทรด) ในเดือนก.พ.นี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ดังนั้น คำนิยามที่บอกว่าเป็น 'หุ้นมหาชนแห่งปี 2564 !' คงพูดได้ไม่ผิดความหมายกับหุ้น 'OR' ตัวนี้... สอดรับกับผลสำเร็จตลอดสามปีที่ผ่านมา OR ใช้เวลาเตรียมตัวเป็นหุ้น IPO อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 และสามารถแยกกิจการจาก PTT แล้วเสร็จภายในปี 2561 

ปัจจุบันธุรกิจของ OR ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ 1.ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งครอบคลุมการค้าน้ำมันในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ เช่น การขายน้ำมันอากาศยานและน้ำมันเตาสำหรับเรือขนส่ง การขายน้ำมันให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม การขายน้ำมันหล่อลื่น และก๊าซปิโตรเลียมเหลว 

161132123792

โดยทั้ง 2 ตลาด มียอดขายใกล้เคียงกัน ซึ่งในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ยอดขายผ่านสถานีบริการ (ปั๊ม) น้ำมัน และตลาดพาณิชย์ อยู่ที่อย่างละประมาณ 9,000 ล้านลิตร ทำให้ในส่วนของธุรกิจน้ำมัน ยังมีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศเป็นอันดับที่ 1 

2.กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น (Non-Oil) ครอบคลุมร้านกาแฟแบรนด์ คาเฟ่อเมซอน ที่ยังเป็น 'พระเอก' และแบรนด์ร้านค้าปลีกอื่นทั้งอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการให้บริการเช่าพื้นที่ภายในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ที่สามารถสร้างกำไรให้ได้พอสมควร

และ 3.ธุรกิจต่างประเทศ ครอบคลุมปั๊มน้ำมันอยู่ในต่างประเทศกว่า และมีร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอนใน 10 ประเทศ 

'3 ธุรกิจหลัก (น้ำมัน-ค้าปลีก-ต่างประเทศ) ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตของหุ้น OR !!'

161132129963

'อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. หรือ PTT เล่าทิศทางอนาคตของ OR ให้ฟังเช่นนั้น ซึ่ง กลุ่มปตท. มีการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่ง OR แยกธุรกิจออกไปจาก ปตท. ก็จะเป็นอีก 'เรือธง' (Flagship) ที่สร้างสีสัน และการระดมทุนที่ได้เม็ดลงทุนเพิ่มเข้ามาก็จะเอื้อให้ OR มีเงินลงทุนขยายธุรกิจได้มากขึ้น 

ทั้งนี้ ขนาดธุรกิจของ OR ในปัจจุบันมียอดขายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย.) อยู่ที่ 3 แสนล้านบาท มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท กำไรสุทธิ อยู่ที่ประมาณ 5,900 ล้านบาท 

'การนำ OR เข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ เป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กับ OR แข็งแกร่งมากขึ้น ส่วน Flagship อื่นก็จะมีแผนการเติบโตที่แตกต่างกันตามสภาพของแต่ละธุรกิจ และ ปตท.ก็จะกลายเป็นโฮลดิ้งที่มีความหลากหลายของธุรกิจครบเครื่องมากขึ้น' หุ้นใหญ่ ปตท. ย้ำเช่นนั้น 

ทั้งนี้ OR มุ่งเน้นขยายการเติบโตในส่วนของธุรกิจ Non-Oil และธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น จากปัจจุบันมี EBITDA อยู่ที่ระดับ 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากธุรกิจน้ำมันประมาณ 69% ธุรกิจ Non-Oil สัดส่วน 25% และธุรกิจต่างประเทศ ประมาณ 6% 

ฟาก 'จิราพร ขาวสวัสดิ์' รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR เปิดแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (2564-2568) ตั้งงบลงทุนมูลค่า 74,600 ล้านบาท สำหรับขยายการลงทุนใน '3 ธุรกิจหลัก' แบ่งเป็นลงทุนในธุรกิจน้ำมัน 34.6% ธุรกิจค้าปลีกและบริการอื่นๆ (Non-Oil) 28.6% ธุรกิจต่างประเทศ 21.8% และธุรกิจอื่นๆ 15% ที่เป็นการเปิดโอกาสในธุรกิจใหม่

โดย ธุรกิจน้ำมัน วางเป้าในปี 2568 สถานีบริการน้ำมัน PTT เป็น 3,100 แห่ง จากปัจจุบัน 1,968 แห่ง โดยจะใช้กลยุทธ์ลงทุนต่ำด้วยการให้ดีลเลอร์ที่ต้องการขยายสถานีบริการเป็นผู้ลงทุนหลักในสัดส่วน 80% และบริษัทลงทุน 20% 

ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่นๆ (Non-Oil) วางเป้าในปี 68 มีร้านกาแฟแบรนด์ คาเฟ่ อเมซ่อน (Cafe Amazon) เพิ่มเป็น 5,800 สาขา จากปัจจุบันที่มีอยู่ 3,168 สาขา รวมทั้งจะขยายฐานรายได้และขีดความสามารถในการทำกำไรจากธุรกิจ Non oil ด้วยการเพิ่มความหลากหลายของบริการอาหารและเครื่องดื่มในปั๊ม โดยเฉพาะการซื้อแบรนด์ใหม่เข้ามาเพิ่ม พร้อมไปกับแผนขยายร้านเดิมที่มีอยู่

รวมถึงจะสร้างโรงงานเบเกอรี่ ,โรงงานผงผสมเครื่องดื่ม และศูนย์กระจายสินค้าอัตโนมัติขึ้นมาอีก และขยายร้าน Texas Chicken อีกกว่า 20 สาขาต่อปี

ธุรกิจต่างประเทศ เน้นขยายลงทุนไปยังกลุ่มอาเซียน อาทิ CLMV, ฟิลิปปินส์ เป็นการขยายทั้งสถานีบริการน้ำมันอีก 350 แห่ง และร้านกาแฟแบรนด์คาเฟ่ อเมซ่อน อีก 310 แห่ง ซึ่งหลังบริษัทมีการเปลี่ยนรูปแบบลงทุนมาเป็นผ่านแฟรนไชส์ ทำให้การขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว 

โดยในเวียดนามได้ร่วมทุนกับกลุ่มเซ็นทรัล ขยายสาขาร้านคาเฟ่ อะเมซอน ในทำเลหลัก ทำให้ปัจจุบันขยายธุรกิจไปต่างประเทศมีอยู่ 10 ประเทศแล้ว ทำให้ปัจจุบันคาเฟ่ อเมซ่อน เป็นแบรนด์ร้านกาแฟที่ใหญ่ระดับโลก โดยในแง่ของจำนวนสาขาอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก และ เพื่อพิจารณาในแง่ของรายได้เป็นอันดับที่ 12 ของโลก 

161132136422

ขณะที่ในจีนจะขยายร้านคาเฟ่ อะเมซอน และขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์หล่อลื่นในโอมาน และจะมอบสิทธิมาสเตอร์ แฟรนไชส์ ของร้านคาเฟ่ อะเมซอนให้กับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของโอมาน

โดยปัจจุบันบริษัทมี สถานีบริการน้ำมัน PTT ในต่างประเทศจำนวน 329 แห่ง และมีร้านคาเฟ่ อเมซ่อน จำนวน 272 แห่ง และศูนย์บริการยานยนต์ 'FIT Auto' จำนวน 56 แห่งในประเทศไทย และ 4 แห่งในต่างประเทศ

ขณะที่เงินลงทุนอีก 15% ลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ 3 ธุรกิจหลักข้างต้น เพื่อมองหาโอกาสใหม่ๆ และต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีอยู่ในรูปแบบของพันธมิตร จากการทำดีลร่วมทุน (JV) หรือซื้อกิจการ (M & A)

รวมทั้งบริษัทมีแผนขยายการให้บริการแท่นชาร์จสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในเส้นทางหลักทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่เริ่มเปิดทดลองในสถานีบริการน้ำมันแล้วจำนวน 25 แห่ง หลังมองว่าเทรนด์รถยนต์ EV จะช่วยต่อยอดธุรกิจและเป็นโอกาสอีกหนึ่งธุรกิจที่จะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งในสถานีบริการน้ำมันของ OR ในอนาคต โดยนอกเหนือจากสถานีชาร์จ EV แล้วบริษัทยังสนใจร่วมลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV ทั้งธุรกิจแบตเตอรี่,บริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ปัจจุบันสัญญาการให้สิทธิแบรนด์ร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น (7-11) ของ บมจ. ซีพี ออลล์ หรือ CPALL ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ใกล้จะหมดสัญญาในอีกกว่า 2 ปีข้างหน้า โดยอายุสัญญาทั้งหมดระยะเวลา 10 ปี 

โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดการต่อสัญญาระหว่าง OR และ CP เพราะทั้งสองฝ่ายถือเป็นคู่พันธมิตรทางธุรกิจที่ดีต่อกันมาตลอด โดยร้านสะดวกซื้อเซเว่นก็มีรายได้สูงขึ้น ขณะที่สถานีบริการน้ำมันของ OR ก็มีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นด้วย 

161132170411

6กลยุทธ์ผลักดัน OR โต ! 

'จิราพร ขาวสวัสดิ์' รักษาการแทนประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR บอกว่า บริษัทวาง 6 กลยุทธ์สำคัญการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายธุรกิจ ประกอบด้วย 1.รักษาความเป็นผู้นำทั้งตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ในประเทศไทย 2.มุ่งส่งเสริมการเติบโตของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) สร้างฐานรายได้และเพิ่มขีดความสามารถในการทำกำไร 3.ต่อยอดความสำเร็จ ความชำนาญ เพื่อการขยายตัวสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลก 

4. เสริมสร้างศักยภาพ ขยายโอกาสการเติบโตด้วยเทคโนโลยี และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก (Big Data Analytics) 5.ลงทุนครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทาน บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยี และ 6.มุ่งสร้างคุณค่าและการมีส่วนร่วมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ทั้งประเทศชาติ สังคมชุมชน ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า และพนักงานอย่างสมดุล

ยุทธศาสตร์กลุ่ม ปตท.

'อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. หรือ PTT บอกว่า กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่มปตท. ยังเป็นไปเพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคง ยั่งยืน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในส่วนของธุรกิจก๊าซฯ บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP โดยยังคงเน้นธุรกิจขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม แต่การดำเนินการหลังจากนี้จะมุ่งเน้นโอกาสการลงทุนก๊าซมากขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน รวมทั้งการต่อยอดธุรกิจสู่ LNG Value Chain

ธุรกิจปิโตรเคมี ภายใต้แกนนำของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC และ บมจ. ไออาร์พีซี หรือ IRPC ก็จะเน้นสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty grade) มากขึ้น

ธุรกิจโรงกลั่น ทางบมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ก็จะเป็น Flagship ซึ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อการแข่งขันให้สามารถยืนอยู่ได้เป็นคนสุดท้ายของธุรกิจ หรือ last man Standing

ธุรกิจไฟฟ้า ทางบมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ก็จะเป็น Flagship ที่ขยายการเติบโตโดยตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าฟอสซิล และพลังงานหมุนเวียน แตะอย่างละ 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ซึ่งทางปตท.ได้เข้าไปเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด หรือ GRP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GPSC เพื่อเสริมฐานะการเงินให้กับ GRP รองรับขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ปตท.ยังเดินหน้าการลงทุนใหม่และเสริม New S-Curve ซึ่งขยายเข้าสู่ธุรกิจ Life Science เช่น ยา อาหารเสริม และเครื่องมือแพทย์ รวมถึงโลจิสติกส์ ซึ่งได้ร่วมมือกับพันธมิตร คือ กลุ่มกัลฟ์ เพื่อเข้าไปร่วมในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ซึ่งยังอยู่รอความชัดเจนเรื่องสัญญาจากภาครัฐ

รวมทั้งยังสนใจเรื่องของ เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ โดยปัจจุบัน ปตท.สผ.ยังมีการจัดตั้งบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) และ ปตท.ได้จับมือกับ มิตซุย เพื่อเดินหน้าให้บริการระบบออโตเมติก เป็นต้น โดยในส่วนของธุรกิจใหม่และธุรกิจพลังงานหมุนเวียน มีเป้าหมายจะเพิ่มการเติบโตของ EBITDA ให้กับพอร์ตของ ปตท.ใน 10 ปีข้างหน้า