สศช.ย้ำยุทธศาสตร์ 'ทวาย' เชื่อมลงทุนเมียนมา-อีอีซี

สศช.ย้ำยุทธศาสตร์ 'ทวาย' เชื่อมลงทุนเมียนมา-อีอีซี

สศช.ย้ำความสำคัญยุทธศาสตร์ 'ทวาย' ไทยหวังเชื่อมลงทุนเมียนมา-อีอีซี วางโครงสร้างพื้นฐานรถไฟ-มอเตอร์เวย์ถึงแหลมฉบัง

การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายต้องสะดุดเมื่อ บริษัทอิตาเลียนไทย อีเวล๊อปต์เมต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 12 ม.ค.2564 ว่า รัฐบาลเมียนมายกเลิกสัญญาสัมปทานรวม 7 ฉบับ ที่ลงนามกับคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (DSEZ MC) ของเมียนมา ซึ่งสัญญาสัมปทาน 7 ฉบับดังกล่าวครอบคลุมการพัฒนาโคงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นของนิคมอุตสาหกรรมพื้นที่ 27 ตร.กม.

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นโครงการที่ไทยและเมียนมามีบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันเพื่อจะพัฒนาโครงการนี้ให้เป็นรูปธรรมเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้ง 2 ประเทศ 

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์เราวางแผนให้ทวายเชื่อมโยง เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่เป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทย และในแง่ของระยะทางทั้ง 2 โครงการ อยู่ไม่ไกลกันมากทั้งการเดินทางและขนส่งสินค้า ซึ่งจะได้ประโยชน์มากที่สุดเมื่อมีโครงการทวายเกิดขึ้น 

รวมทั้งไทยได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานไปเชื่อมโยงกับชายแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี เพื่อต่อไปยังโครงการฯทวายแล้ว ซึ่งไทยมีการลงทุนในส่วนของโครงการมอเตอร์เวย์บางใหญ่กาญจนบุรี รวมถึงถนนที่จะเชื่อมจากมอเตอร์เวย์ไปถึงชายแดนบ้านพุน้ำร้อน และถนนจากชายแดนบ้านพุน้ำร้อนไปถึงนิคมอุตสาหกรรมทวาย 139 กิโลเมตร ซึ่งได้หารือกับเมียนมาตั้งแต่สมัย “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยวงเงินส่วนนี้เป็นข้อเสนอที่ไทยช่วยเหลือรัฐบาลเมียนมาเพื่อให้ลงทุนโครงการนี้

161130689210

สำหรับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมทวายระยะที่ 1 (Initial Phase) พื้นที่ 27 ตร.กม.ต้องพิจารณาหลายส่วนเพื่อให้เกิดการลงทุนจริง เพราะองค์ประกอบสำคัญของการเกิดนิคมอุตสาหกรรม คือ โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำ ต้องพร้อมและเชื่อมกับสิ่งที่ภาคเอกชนไทยได้ลงทุนไปแล้วในพื้นที่

และเมื่อจะเดินหน้าต่อต้องหารือว่าจะทำอย่างไรให้เดินหน้าไปพร้อมกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องลำดัลแรกที่ต้องเกิดก่อน และต้องใช้การลงทุนค่อนข้างมาก เพื่อให้นักลงทุนเกิดมั่นใจว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นจริง

“ได้ทำข้อมูลถึงมือนายกฯ แล้วว่าต้องใช้กลไกที่มีอยู่ คือ การหารือ 3 ฝ่าย เรื่องการเดินหน้าโครงการทวายต่อ”

ทั้งนี้ ต้องเดินต่อเพราะในภาพใหญ่โครงการทวายและอีอีซีเป็นโครงการที่เชื่อมกันทางยุทธศาสตร์และได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย และเชื่อว่าการหารือกันยังมีแนวทางหลายอย่างที่จะเดินหน้าต่อได้ ส่วนแผนแม่บทโครงการที่ญี่ปุ่นได้ศึกษาไว้ต้องมาทบทวนดูอีกครั้งร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ไทย เมียนมาร์และญี่ปุ่นที่จะร่วมกันพัฒนาโครงการนี้ว่าจะเดินต่ออย่างไร" 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ITD ส่งหนังสือขอความช่วยเหลือถึงนายกรัฐมนตรีจากกรณีที่เมียนมายกเลิกสัญญาสัมปทาน 7 ฉบับ ว่า รัฐบาลกำลังเดินหน้าตรงนี้อยู่ ช่วงที่ผ่านมาเราก็มีปัญหาเยอะพอสมควร วันนี้ก็มีการปรับปรุงในการเจรจาความร่วมมือดังกล่าว

โดยมอบหมายให้ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปดูกติกาการคุ้มครองการลงทุนของประเทศในอาเซียนได้อย่างไร  161147898712

รวมทั้งได้มอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยให้ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา (JCC) เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้องได้หารือกับทางการเมียนมา ซึ่งคิดว่าส่วนนี้น่าจะทำให้ดีขึ้น

สำหรับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวายได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.และบรรจุไว้ในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนล่าง 1 ในการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2562 

ทั้งนี้ สศช.เสนอกรอบการพัฒนาพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 1 ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เคียงและเชื่อมต่อกัน โดยเฉพาะการเชื่อมต่อคมนาคมขนส่งและแหล่งท่องเที่ยว เพื่อกระจายความเจริญและสร้างรายได้เพิ่มให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยสนับสนุนให้เปิดประตูการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว เชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย พื้นที่ภาคกลางและ EEC โดยดำเนินการ 4 เรื่องสำคัญ คือ

1.การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและรถไฟ เชื่อมกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี เพื่อเชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนกับพื้นที่เศรษฐกิจหลักของประเทศให้มีส่วนสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างกันเชื่อมท่าเรือทวาย-แหลมฉบัง-สีหนุวิลล์ (กัมพูชา)

2.เร่งพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ให้เป็นประตูเชื่อมระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC จากท่าเรือทวาย-ท่าเรือแหลมฉบัง-ท่าเรือสีหนุวิลล์ (กัมพูชา) ถึงท่าเรือวังเตา (เวียดนาม) โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้เชื่อมกันได้ ซึ่งจะทำให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจที่สมบูรณ์และได้ประโยชน์หลายประเทศ

3.พัฒนาด่านชายแดนไทย-เมียนมา บ้านพุน้ำร้อน ด่านเจดีย์สามองค์ และด่านสิงขร เพื่อเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว กับเมียนมา โดยจัดระเบียบการใช้โยชน์ที่ดินให้สอดคล้อกับการพัฒนาในอนาคต พร้อมทั้งปรับปรุงและพัฒนาระบบโลจิสติกส์ สาธารณูปโภค จุดบริการและสิ่งอำนวยควาสะดวกบริเวณจุดผ่านแดน ตลอดจนกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

4.พัฒนาพื้นที่เมืองและพื้นที่เศรษฐกิจของภาคกลาง ตามแนวแกนหลักการเชื่อมโยงเศรษฐกิจพิเศษทวายกับอีอีซีโดยจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภครองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวระหว่างไทย-เมียนมา