'โควิด-19'พ่นพิษอาเซียน-นลท.เมิน'สตาร์ทอัพ'

'โควิด-19'พ่นพิษอาเซียน-นลท.เมิน'สตาร์ทอัพ'

ดีลสตรีทเอเชีย บริษัทสื่อมีฐานดำเนินงานในสิงคโปร์ ระบุว่า บริษัทสตาร์ทอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระดมทุนได้โดยรวม 8,600 ล้านดอลลาร์ในปี2563 ลดลง2% จากปี 2562 เพราะผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคชลอตัวลง

รายงานของพิทช์บุ๊ค ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในเอเชียสวนทางอย่างสิ้นเชิงกับแนวโน้มการลงทุนของบริษัทสตาร์ทอัพที่สดใสในสหรัฐและในจีน ท่ามกลางภาวะขาลงของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก โดยบริษัทสตาร์ทอัพสหรัฐระดมทุนได้เพิ่มขึ้น 13% เป็น 156,200 ล้านดอลลาร์ในปี 2563 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นของอาเซียนยังมีบริษัทจำนวนน้อยที่จะดึงดูดเม็ดเงินของเหล่านักลงทุน

มาตรการล็อกดาวน์และการเข้มงวดด้านการเดินทางในภูมิภาคทำให้การประชุมและการทำดิว ดิลิเจนซ์แบบเผชิญหน้ากันของบรรดานักลงทุนเป็นเรื่องที่ทำได้ยากลำบาก โดยเฉพาะการทำข้อตกลงลงทุนข้ามพรมแดน แม้แต่ในสิงคโปร์ ที่ถือเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาค ยังประกาศมาตรการคุมเข้มการเข้า-ออกบริเวณพรมแดน ด้วยเหตุนี้ นักลงทุน หรือบริษัทสตาร์ทอัพจึงไม่สามารถเข้าหรือออกจากสิงคโปร์ได้อย่างสะดวกเหมือนเดิม

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยในไตรมาสแรกของปี2563 บริษัทสตาร์ทอัพในภูมิภาค ระดมทุนได้ 2,900 ล้านดอลลาร์แต่ในไตรมาสสองลดลงเหลือ 2,200 ล้านดอลลาร์ และไตรมาสสามลดลงเหลือ 1,800 ล้านดอลลาร์ ส่วนไตรมาสสี่ลดลง 1,600 ล้านดอลลาร์

ปีที่แล้ว สตาร์ทอัพชั้นนำของอินโดนีเซียอย่างโกเจ็ก บริษัทให้บริการแอพฯเรียกรถ ระดมทุนได้โดยรวม 1,650 ล้านดอลลาร์จากเฟซบุ๊ค เพย์พาล เทลคอมเซล บริษัทให้บริการด้านโทรคมนาคมของรัฐบาลอินโดนีเซียและบริษัทอื่นๆ

ตามมาด้วยแกร๊บ คู่แข่งในธุรกิจเดียวกันสัญชาติสิงคโปร์ ที่ระดมทุนได้โดยรวม 1,050 ล้านดอลลาร์ โดยนักลงทุนหลักที่เข้าซื้อหุ้นในบริษัทสตาร์ทอัพอย่างแกร๊บคือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ของญี่ปุ่นที่ประกาศแผนลงทุนมูลค่า 700 ล้านดอลลาร์เมื่อเดือนก.พ. เป็นส่วนหนึ่งของแผนแสวงหาความร่วมมือในธุรกิจให้บริการการเงินดิจิทัล

ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ทั้งแกร๊บและโกเจ็ก ซึ่งขณะนี้มีมูลค่าทางการตลาดกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์ เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ระดมทุนได้สูงสุดของภูมิภาค แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและสไตล์การใช้ชีวิตและการทำงานของผู้คน ธุรกิจแอพฯเรียกรถของทั้งสองบริษัทจึงชลอตัว มีผู้ใช้บริการน้อยลง ขณะที่สตาร์ทอัพในธุรกิจอื่นๆกลับเริ่มดึงดูดความสนใจของเหล่านักลงทุนมากขึ้น

ส่วนสตาร์ทอัพฟินเท็ค บริษัทให้บริการทางการเงินดิจิทัล อาทิ อี-เพย์เมนท์ สินเชื่อทางออนไลน์และคริปโตเคอร์เรนซีก็อยู่ในกลุ่มบริษัทสตาร์ทอัพที่ระดมทุนได้อย่างคึกคัก เช่นกรณีของบริษัท LinkAja ผู้ให้บริการด้านอี-เพย์เมนท์ของอินโดนีเซียระดมทุนได้ 100 ล้านดอลลาร์จากกลุ่มนักลงทุนต่างๆ ซึ่งรวมถึง แกร๊บ ในเดือนพ.ย. โดยบริษัทสตาร์ทอัพฟินเท็คระดมทุนได้ 1,250 ล้านดอลลาร์ผ่านการทำข้อตกลงโดยรวม 125 ข้อตกลง

ขณะที่การทำงานจากบ้านทำให้ธุรกิจให้บริการส่งอาหารและโลจิสติก อย่างแฟลช เอ็กซ์เพรสส์ของไทย ระดมทุนได้ 200 ล้านดอลลาร์ในเดือนต.ค.ปีที่แล้วจากนักลงทุนหลายกลุ่ม ซึ่งการเติบโตของธุรกิจโลจิสติกเป็นผลพวงจากการขยายตัวของแพลทฟอร์มอีคอมเมิร์ซ อาทิ โทโกพีเดียของอินโดนีเซีย ซึ่งระดมทุนได้ 350 ล้านดอลลาร์

หากมองไปข้างหน้า ขณะที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวและนักลงทุนคาดหวังไว้มากว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งบรรดาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม ระบุว่า ธุรกิจอื่นๆจะระดมทุนได้มากขึ้นในปีนี้ รวมถึงธุรกิจการศึกษาทางออนไลน์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในจีนและในอินเดีย

ดีลสตรีทเอเชีย เผยแพร่ข้อมูลการลงทุนในธุรกิจการศึกษาทางออนไลน์ในภูมิภาคในปี2563 อยู่ที่ 54 ล้านดอลลาร์แต่มีแนวโน้มว่าการระดมทุนในธุรกิจให้บริการด้านการศึกษาในภูมิภาคเริ่มขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะธุรกิจเหล่านี้ ปรับตัวรับเทคโนโลยีมากขึ้น

"การระบาดของโรคโควิด-19 บังคับให้โรงเรียนปรับตัวใช้การสอนแบบทางไกลมากขึ้น และเรามองเห็นว่าในอนาคตความต้องการในเรื่องนี้ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูที่ต้องการให้นักเรียนเรียนรู้จากห้องเรียนเสมือนจริงจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง "ดีลสตรีทเอเชีย ระบุ