ส่งออกเดือนธ.ค.ขยายตัว4.71% สูงสุดในรอบ22 เดือน

ส่งออกเดือนธ.ค.ขยายตัว4.71% สูงสุดในรอบ22 เดือน

พาณิชย์เผยส่งออกเดือนธ.ค. ขยายตัว4.71% มูลค่า 20,082ล้านดอลลาร์ จากสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมฟื้นตัวถือเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ22 เดือน ทั้งปี 63 ส่งออกไทยติดลบ6% คาดปี 64 ส่งออกอาจเติบโตได้ถึง 5 % จากวัคซีนและเศรษฐกิจโลกฟื้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ธ.ค.ขยายตัว 4.71 % มูลค่า 20,082.74 ล้านดอลลาร์ โดยพลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 8 เดือน และมีอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 22 เดือน ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 3.62 % มูลค่า 19,119 ล้านดอลลาร์ เกินดุล 963.58 ล้านดอลลาร์ โดยภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2563 (ม.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 6.01%  ซึ่งถือว่าทำได้ดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะติดลบประมาณ 7%  การนำเข้ามีมูลค่า 206,991.9 ล้านดอลลาร์ ลดลง 12.39% เกินดุลการค้ารวม 24,476.5 ล้านดอลลาร์

การส่งออกเดือนธ.ค.ขยายตัว มาจากสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวได้ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น  เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมไปถึงสินค้าคงทนที่มีราคาสูงอย่างรถยนต์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก และซัพพลายเชนของสินค้าส่งออกไทย การระดมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และการกระจายวัคซีนในหลายภูมิภาค ช่วยกระตุ้นอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกสามารถรักษาทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนสินค้าที่ยังขยายตัวได้ดียังเป็นสินค้ากลุ่มที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่นเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ 3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกอย่างมากในช่วงนี้

“แม้ว่าจะมีการระบาดของโควิด-19 รอบสอง แต่หลายประเทศก็ไม่ได้ใช้มาตรการล็อคดาวน์ทั้งประเทศแต่ใช่เฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาด ทำให้ภาคการผลิตและการขนส่งยังดำเนินต่อไปได้ ทำให้การส่งออกขยายตัว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและโควิด-19 และการส่งออกที่ขยายตัวนี้ไม่เฉพาะประเทศไทยแต่หลายประเทศก็ขยายตัวเป็นบวก เช่น  เวียดนาม เกาหลี อินเดีย”

161129818496

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า  สำหรับการส่งออกสินค้าและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัว 2.1 % ในรอบ 3 เดือน โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหาร ผัก ผลไม้ สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป แต่มีสินค้าที่ลดลง เช่น น้ำตาล เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็และแปรรูป ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว 6.7 % ในรอบ 8 เดือน  โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี คือ ถุงมือยาง เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  แผงวงจรไฟฟ้า  รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  ส่วนสินค้าที่ลดลง คือ ทองคำ น้ำมันสำเร็จรูป อัญมณีและเครื่องประดับ

ทางตลาดส่งออกสำคัญของไทย ทั้งตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยตลาดหลัก ขยายตัว 10.4  %   เช่น สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่อง 15.7 % โดยทั้งปี 63 ตลาดสหรัฐมีสัดส่วนการส่งออกของไทยเป็นอันดับ 1   ญี่ปุ่นเพิ่ม 14.8 % สหภาพยุโรปป (อียู) 15 ประเทศ ลด 2.4 % จากการล็อกดาวน์ในบางประเทศ ตลาดศักยภาพสูง ขยายตัว 2.6 % โดยจีน เพิ่ม 7.2 %  อาเซียน 5 ประเทศ เพิ่ม 0.8 % เอเชียใต้ เพิ่ม 14.9 % อินเดีย เพิ่ม 14.5 % ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 1.5 % โดยทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 13.5 % ตะวันออกกลางเพิ่ม 0.1 % ขณะที่การส่งออกไปลาตินอเมริกา  ลด 8.8 % ทวีปแอฟริกา ลด 3.2 %  และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด16.9 %

161129825829

       

สำหรับการส่งออกในปี 2564 กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าจะขยายตัวเป็นบวก 4% มูลค่า 240,727 ล้านดอลลาร์ เฉลี่ยต่อเดือนต้องส่งออกให้ได้เดือนละ 20,000 ล้านดอลลาร์ และมองว่าอาจจะขยายตัวได้ถึง 5% มูลค่ารวม 243,042 ล้านดอลลาร์ หรือส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 20,253 ล้านดอลลาร์  เพราะปีนี้ มีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน แม้โควิด-19 จะระบาดอีก แต่ก็มีการล็อกดาวน์แบบจำกัด ทำให้ผลกระทบไม่รุนแรงเหมือนรอบแรก และยังได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีนโควิด-19 การกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ ทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายการค้าสหรัฐฯ กลับมายึดกติกาองค์การการค้าโลก (WTO) ช่วยให้ความขัดแย้งจากสงครามการค้าผ่อนคลาย รวมถึงความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่จะบังคับใช้ช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิก

ส่วนปัจจัยลบ ยังคงเป็นเรื่องค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ทำให้การแข่งขันด้านราคายากขึ้น มีปัญหาอุปสรรคจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้มีต้นทุนโลจิสติกส์เพิ่มขึ้น และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า เช่น ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ไทยยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน ทำให้ส่งออกในอนาคตเสี่ยงที่จะเสียแต้มต่อคู่แข่ง