‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘ทรงตัว’ที่29.93บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘ทรงตัว’ที่29.93บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินสหรัฐพักฐานหลังรับข่าวไบเดนแรงสุดตั้งแต่ปี1985 และหนุนดัชนี MSCI Emerging Markets ปรับตัวขึ้นแล้วกว่า 8% ในเดือนม.ค. ขณะที่ตลาดในประเทศ เริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อหุ้นแล้วบอนด์ไทย เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่า

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า

เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.93 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.85-30.05 บาทต่อดอลลาร์

ในช่วงคืนที่ผ่านมาทั้งดัชนี S&P 500 ของสหรัฐและดัชนี STOXX 600 ของยุโรปต่างพักฐานหลังจากปรับตัวขึ้นรับข่าวการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1985

นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่าทิศทางนโยบายของนายโจ ไปเดนจะกลับไปเป็นการสร้างความร่วมมือระดับนานาชาติมากกว่าการโดดเดี่ยวสหรัฐออกจากกลุ่มประเทศพันธมิตร ภาพดังกล่าวหนุนให้ดัชนี MSCI Emerging Markets ปรับตัวขึ้นแล้วกว่า 8% ในเดือนมกราคม

ด้านตลาดเงิน ดอลลาร์อ่อนค่าต่อเนื่อง ลงอีก 0.1% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก เงินยูโร (EUR) ฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยนักลงทุนมองว่าธนาคารกลางยุโรปจะไม่รีบใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงสดใส ด้านตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ในสหรัฐ (U.S. Initial Jobless Claims) ก็ย่อตัวลงมาที่ระดับ 9.00 แสนตำแหน่ง ขณะที่ผลการสำรวจมุมมองเศรษฐกิจของเฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย (U.S. Jan. Philadelphia Fed Business Outlook) ที่ขยับขึ้นมาแตะระดับ 26.5จุด จากเดิม 9.1จุดก็ชี้ว่านักธุรกิจในสหรัฐมีความหวังเช่นกัน

ส่วนตลาดในประเทศ เริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าซื้อหุ้นแล้วบอนด์ไทยหลังเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ในระยะสั้นมองว่าการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสในประเทศ เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ตลาดเชื่อว่าเศรษฐกิจมีโอกาสฟื้นตัว ขณะเดียวกันตลาดทุนทั่วโลกก็แข็งแกร่ง จึงไม่มีแรงต้านบนการแข็งค่าของเงินบาทช่วงนี้

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.85-30.00บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมเริ่มเผชิญแรงขายทำกำไร หลังจากที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯใหม่ และความวุ่นวายการเมืองสหรัฐฯที่คลี่คลายลง ส่งผลให้ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก อย่าง ดัชนี Russell 2000 ที่ปรับตัวลง 0.64% ขณะที่หุ้นกลุ่มเทคฯ โดยเฉพาะหุ้นApple และ Intel ปรับตัวขึ้นได้ดีดี จากความคาดหวังต่อผลประกอบการที่ยังคงแข็งแกร่ง ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯอย่าง Nasdaq ปรับตัวขึ้น 0.55%

ส่วนในฝั่งยุโรป นโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายของธนาคารกลางยุโรปไม่ได้ช่วยหนุนให้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น เพราะความกังวลหลักคือสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงรุนแรง ทำให้ ดัชนีหุ้นยุโรปSTOXX50 ย่อตัวลง 0.16%

แม้ตลาดจะเผชิญแรงขายทำกำไร แต่ในฝั่งตลาดบอนด์ ยีลด์10ปีสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวขึ้นราว 2bps สู่ระดับ 1.10% หลังตลาดคงมุมมองว่ารัฐบาลอาจจะต้องออกบอนด์มากขึ้นเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักนอกจากนี้ โดยดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงราว  0.4% สู่ระดับ 90.13จุด

สำหรับวันนี้ ตลาดมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯมีแนวโน้มชะลอลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 สะท้อนผ่านตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ล่าสุด ยังคงสูงถึง 9แสนราย ขณะเดียวกันดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการโดย Markit (Mfg. & Services PMIs) เดือนมกราคมก็จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 56จุด และ 53จุด ตามลำดับ ชี้ว่ากิจกรรมในภาคการผลิตและบริการชะลอตัวลง นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะยังคงจับตาการเมืองสหรัฐฯโดยเฉพาะการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 100วันแรกในการทำงานของประธานาธิบดีโจ ไบเดน

ถัดมาในฝั่งยุโรป ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ตลาดคาดว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการโดย Markit เดือนมกราคมจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 54จุดและ 44จุด ตามลำดับ

ส่วนในฝั่งไทยเรามองว่ายอดส่งออกสินค้า(Exports) ในเดือนธันวาคมจะหดตัว 2%จากปีก่อนหน้า กดดันโดยปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก แม้ว่าความต้องการสินค้าจะกลับมาตามภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกก็ตาม ซึ่งภาวะการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่ส่งผลให้ค่าขนส่งแพงขึ้นอย่างมากอาจจะคงอยู่ไปอีกอย่างน้อย 3เดือน ทำให้เรามองว่าการฟื้นตัวของภาคการส่งออกอาจชะลอตัวลงได้ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

แม้ว่า เราคงมุมมอง แนวโน้มเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยเฉพาะในกรณีที่ รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม  แต่จากมุมมองของผู้เล่นส่วนใหญ่ที่มองว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลง ทำให้สถานะการขายเงินดอลลาร์สุทธิ (Short positions) อยู่ในระดับที่สูงในรอบหลายปี ทำให้มีความเสี่ยงที่เงินดอลลาร์จะพลิกกลับมาแข็งค่าได้เร็วและแรง (Short Squeeze) หากตลาดปิดรับความเสี่ยงจากความผิดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือสถานการณ์การระบาด COVID-19 ที่รุนแรงขึ้น เช่น มีการกลายพันธุ์ รวมทั้งกรณีที่วัคซีนไม่สามารถช่วยลดการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนในฝั่งเงินบาท  ยังคงมีทิศทางเคลื่อนไหวตามเงินดอลลาร์และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ในระหว่างที่ยอดการเกินดุลการค้าอาจจะยังไม่สูงมาก โดยในระยะสั้น เงินบาทอาจจะเคลื่อนไหวในกรอบ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่อาจจะรอผลการประชุมของธนาคารแห่งประเทศไทยในต้นเดือนหน้า

ด้านฝั่งผู้นำเข้าก็รอเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 29.85-29.90 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.10-30.15บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ +/- 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ชัดเจน