รพ. พื้นที่เสี่ยง เปิด "คลินิกมลพิษ“ รับมือฝุ่น PM2.5

รพ. พื้นที่เสี่ยง เปิด "คลินิกมลพิษ“ รับมือฝุ่น PM2.5

ปัญหา PM2.5 เกิดขึ้นในเมืองใหญ่จากสภาพอากาศปิดในช่วงฤดูหนาว และยังมีแนวโน้มที่จะมีความเข้มข้นสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ โรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด

ข้อมูลรายงานการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เมื่อวันที่ 10 – 16 มกราคม 2564 โดยกรมควบคุมโรค พบว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีผู้ป่วยที่เข้ามารักษาในโรงพยาบาลเครือข่าย จำนวน 31 ราย  ส่วนใหญ่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ รองลงมา คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ อายุ 60 - 69 ปี และมีอาชีพรับจ้างทั่วไป

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าประชาชนกลุ่มเปราะบางที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด รวมถึงผู้ที่ทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ควรเลี่ยงพื้นที่ฝุ่นสูง (สีแดง) หรือลดระยะเวลาออกนอกอาคารให้น้อยที่สุด หากจำเป็นต้องออกนอกอาคาร ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และงดการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง รวมทั้ง ปิดประตูหน้าต่างให้สนิท หรืออยู่ในห้องปลอดฝุ่นและสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการไอ แน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นแดง หรือมีอาการผิดปกติทางร่างกายอื่น ๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

ทั้งนี้ สธ. ได้ยกระดับมาตรการด้านสาธารณสุขในพื้นที่เสี่ยง โดยให้ทุกพื้นที่ดำเนินงานเฝ้าระวัง แจ้งเตือนสถานการณ์และดูแลสุขภาพของประชาชน ให้คำแนะนำการป้องกันตัวโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ให้รพ. เปิดคลินิกมลพิษเพื่อให้คำปรึกษาและรักษา สนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุข และสนับสนุนให้โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานดูแลผู้สูงอายุ บ้านเรือนประชาชน จัดเตรียมห้องปลอดฝุ่น บูรณาการการดำเนินงานในพื้นที่จัดการแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแล และได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ขณะเดียวกัน ปัญหา PM2.5 ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม และใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในอาคาร ดังนั้น การจัดการคุณภาพอากาศในอาคารอย่างเหมาะสม จึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันตนเองจากการสัมผัส PM2.5 ที่เข้ามาจากภายนอกอาคาร ผศ. ดร.ประพัทธ์ พงษ์เกียรติกุล” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ระบุว่า จากงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า การที่อยู่ในอาคารปิดจะช่วยลดการสัมผัส PM 2.5 อย่างน้อย 38 – 45% โดยเทคนิคการจัดการคุณภาพอากาศภายในบ้าน สำนักงาน แบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนหลัก 

คือ 1) การควบคุมแหล่งกำเนิด โดยการปิดประตูหน้าต่างป้องกันแหล่งกำเนิดฝุ่นภายนอกเข้ามาอยู่ในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ชั่วคราว เช่น ฟิวเจอร์บอร์ด เทปกาว หรือโฟมต่างๆ (แต่ก็ยังมีโอกาสที่ฝุ่นรั่วซึมเข้ามาในห้องได้) และต้องไม่สร้างแหล่งกำเนิดฝุ่นขึ้นมาอีก เช่น การสูบบุหรี่ ปิ้งย่าง จุดธูปเทียนภายในอาคาร เป็นต้น หากต้องระบายอากาศแนะนำให้เป็นช่วงกลางวัน ที่ฝุ่นภายนอกต่ำที่สุด

2) การฟอกอากาศ ซึ่งเครื่องฟอกอากาศที่ขายตามท้องตลาดมี 2 ประเภท คือ “เครื่องฟอกอากาศทางกล” หรือแบบฟิวเตอร์ มักใช้กระดาษรองชนิด HEPA ซึ่งมีประสิทธิภาพในการกรองสูง จำเป็นต้องเปลี่ยนกระดาษกรองตามรอบ และ “เครื่องฟอกอากาศแบบไอออน” ใช้ไฟฟ้าสถิตในการดักจับ ซึ่งมีความเสี่ยงในการเกิดโอโซน ดังนั้น เครื่องฟอกอากาศดังกล่าวควรได้รับการทดสอบว่ามีปริมาณการเกิดโอโซนไม่เกินระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้งาน โดยมาตรฐานโอโซนในห้องไม่ควรเกิน 50ppb

การเลือกเครื่องฟอกอากาศต้องระมัดระวัง ใช้อย่างถูกต้อง มีมาตรฐาน และมีระบุอัตราการส่งอากาศสะอาด (Clean Air Delivery Rate : CADR) ว่าปริมาณมากน้อยแค่ไหน รวมถึงระบุพื้นที่ห้องที่เหมาะสม ต้องเลือกไม่ใหญ่ หรือ เล็กเกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของห้อง ทั้งนี้ หากบางยี่ห้อไม่มีการระบุขนาดห้องที่เหมาะสมไว้ แต่ระบุเพียงอัตราการส่งอากาศสะอาด (CADR) ต้องเลือกที่ 3 เท่าของปริมาตรห้อง โดยการคำนวณพื้นที่ คือ ปริมาตรห้องกว้างคูณยาวคูณสูง และคูณสามเข้าไป”

3) การระบายอากาศร่วมกับการฟอกอากาศ เทคนิคนี้มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เพราะต้องใช้พัดลมดูดอากาศจากภายนอก ที่ผ่านการลดปริมาณฝุ่น จ่ายเข้ามาภายในห้อง และผลักดันฝุ่นภายในห้องออกไปภายนอกอย่างต่อเนื่อง และอาจมีพัดลมดูดอากาศออกเพื่อดึงอากาศภายในอาคารบางส่วนออกไป โดยควรมีอัตราการดูดออกน้อยกว่าอัตราการนำอากาศเข้ามา (Positive Pressure)

“ ข้อควรระวัง คือ การดึงอากาศจากภายนอกเข้ามา ด้วยความที่ไทยอากาศร้อน อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นของระบบปรับอากาศภายในห้องมีปัญหา ปรับอุณหภูมิไม่ทัน ดังนั้น ระบบนี้อาจจะเหมาะกับอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ คนอยู่เยอะ และควรมีการออกแบบทางวิศวกรรมอย่างเหมาะสม”

สำหรับคนที่มีความสงสัยว่า การอยู่คอนโดชั้นล่างกับชั้นสูงขึ้นไป ปริมาณฝุ่นละอองจะมากน้อยต่างกันอย่างไร ผศ. ดร.ประพัทธ์ อธิบายว่า มีการเก็บข้อมูลจากตึกสูง 40 กว่าชั้น หากเป็นตึกที่อยู่เดี่ยวๆ รอบๆ ไม่มีถนน หรือแหล่งกำเนิดฝุ่นอยู่ใกล้ ปริมาณ PM2.5 ที่ชั้นล่าง กลาง บน แทบจะไม่แตกต่างกัน เพราะ PM2.5 เล็กมาก แทบจะกระจายเป็นเนื้อเดียวของอากาศ เมื่ออากาศกดลงมา จะอยู่ที่ระดับ 100-300 เมตร ซึ่งคอนโดไม่สูงขนาดนั้น จึงไม่เห็นความแตกต่าง แต่หากคอนโดที่อยู่ติดถนน ใกล้แหล่งกำเนิดฝุ่น พบว่าฝุ่นที่มาจากถนน ทำให้ชั้นล่างมี PM2.5 สูงก็เป็นไปได้เช่นกัน แต่ในหลักการแล้ว PM2.5 หากตึกไม่สูง 100 -300 เมตร ยังไม่เห็นความแตกต่าง

161124339084

“ปลูกต้นไม้”ลดมลพิษอากาศ

อีกหนึ่งตัวช่วยในการดักจับสารพิษในอากาศ คือ การปลูกต้นไม้ โดยต้นไม้ที่มีใบใหญ่ หนา มีขนหรือมีพื้นผิวขรุขระ จะมีแนวโน้มในการดักจับฝุ่นได้ดี และไม่ทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายออกมาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม การดักจับฝุ่นบนใบนั้นมีข้อจำกัด เนื่องจากฝุ่นจะไปปิดกั้นการรับสารอาหารของพืช ต้นไม้จึงลดฝุ่นได้บางส่วน ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องฟอกอากาศ แต่การปลูกต้นไม้ ร่วมกับการวางผังบริเวณที่ดี

สำหรับในต่างประเทศ มีการนำต้นไม้มาเป็นแนวกั้นระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษ คือ ถนน และ ที่อยู่อาศัย เพราะต้นไม้สามารถลดทั้งเสียง มลพิษอากาศ แม้ไม่เยอะ แต่หากปลูกหลายต้น และวางผังเมืองดีๆ จะช่วยให้สามารถลดเรื่องของมลพิษทางอากาศได้บางส่วนเช่นกัน

ทั้งนี้ ต้นไม้ที่กรมอนามัยแนะนำ อาทิ “ไม้ยืนต้น” ได้แก่ หมากเหลือง และ ปาล์มสองปันนา “ไม้ดอก” ได้แก่ แก้วมุกดา พุดกุหลาบ “ไม้พุ่ม” เฟิร์นข้าหลวง เฟิร์นบอสตัน ลิ้นมังกรเขียว เตยหอม “ไม้เลื้อย” เฟิร์นสไบนาง หนวดฤาษี และเดฟ อย่างไรก็ตาม การตั้งต้นไม้ไว้ในห้องนอนควรระมัดระวัง เนื่องจากต้นไม้ส่วนใหญ่มีการใช้ออกซิเจนในตอนกลางคืน และปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา