เปิดแผนรับมือวิกฤติ PM2.5 บูรณาการขับเคลื่อนมาตรการ

เปิดแผนรับมือวิกฤติ PM2.5 บูรณาการขับเคลื่อนมาตรการ

จากรายงานสภาพอากาศกรมควบคุมมลพิษ คาดว่า ฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอาจเกินค่ามาตรฐานได้ในทุกภาคของประเทศ จนถึงวันที่ 25 มกราคม 2564 ยกเว้นบริเวณภาคใต้ซึ่งภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี

ขณะที่ พื้นที่เขตเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร รายงานล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2564 ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ของสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ตรวจวัดได้ 51-89 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) พบว่าเกินมาตรฐาน (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จำนวนกว่า 69 พื้นที่

ล่าสุด พื้นที่กรุงเทพมหานคร นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกหน่วยงานของกทม. ดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กทม. ปี 2564 โดยทำการตรวจวัดรถยนต์ควันดำทุกประเภท ประสานสถานีตำรวจจัดการจราจรให้คล่องตัว รณรงค์ไม่ขับช่วยดับเครื่อง บำรุงรักษาเครื่องยนต์ ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว ควบคุมสถานประกอบการไม่ให้การปล่อยมลพิษเกินกำหนด งดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น ควบคุมไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท เพิ่มความถี่ในการล้างและดูดฝุ่นถนน และเปลี่ยนแปลงเวลาทำงานสังกัดกทม. เป็นต้น

ด้าน กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรการ 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคเกษตรอุตสาหกรรม โดย “ภาคอุตสาหกรรม” เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หรือแหล่งกำเนิดความร้อน และอุปกรณ์การเผาไหม้ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑลอย่างเข้มงวด พร้อมขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ตรวจสอบควบคุมระบบบำบัดมลพิษทางอากาศให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานให้เข้มงวดมากขึ้น และการออกกฎหมายรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR)

161123996985

สำหรับมาตรการใน “ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์” มีมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ประกาศใช้แล้ว 37 มาตรฐาน จากทั้งหมด 63 มาตรฐาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 พร้อมทั้ง จัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อรองรับการทดสอบรถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในส่วนราชการ ส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า ภายในประเทศ และการกำหนดอัตราค่าไฟคงที่ทุกช่วงเวลาสำหรับการชาร์ตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจัดทำแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

“ภาคเกษตรอุตสาหกรรม” ด้วยการกำหนดนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ อ้อยสด เป็นร้อยละ 20:80 ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 โดยมีมาตรการกำหนดราคาอ้อยสดกับราคาอ้อยไฟไหม้ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้หันกลับมาตัดอ้อยสด จัดซื้อรถสางใบอ้อย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยรายเล็กได้ยืมไปใช้ และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร โดยโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปีงบประมาณ 2562-2564 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวน 6,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย จัดซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ

ขณะที่ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ออกมาตรการโดยขอให้ทุกจังหวัดเร่งรัดดำเนินการป้องกันไฟป่า หมอกควันและฝุ่น PM2.5 พร้อมเดินหน้า “ชิงเก็บก่อนเผา” ตั้งเป้าเก็บเชื้อเพลิงชีวมวลออกจากป่า วันละ 100 ตันต่อจังหวัด โดยนำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง, ลำพูน, แพร่, น่าน, พะเยา, แม่ฮ่องสอน, ตาก และพิษณุโลก ซึ่งจะใช้วิธีระดมเจ้าหน้าที่ เข้าไปเก็บซากเศษวัชพืช เศษกิ่งไม้ ออกจากป่า เพื่อเป็นการกำจัดแหล่งเชื้อเพลิงชีวมวล ป้องกันการเกิดไฟป่าในช่วงที่อากาศแห้ง และมีลมพัดแรง นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมรายได้ให้ชุมชน

161123996961

  • ยานยนต์ไฟฟ้าทางเลือกแก้ฝุ่น

ประเทศจีน ที่ผ่านมา ได้มีการวางแผนใช้งบประมาณราว 2 แสนดอลลาร์ หรือประมาณ 7 ล้านล้านบาท เพื่อลดปัญหาหมอกควัน ซึ่งเฉพาะแค่เมือง ปักกิ่ง มีโครงการลดปัญหาหมอกควันภายใน 5 ปี ไว้มากถึง 81 โครงการ เช่น การกำหนดให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่วางจำหน่ายในตลาดหลังเดือนกรกฎาคม 2021 จะต้องติดตั้งเครื่องกรองฝุ่นจากดีเซล คาดว่าจะช่วยลดการปล่อย PM 2.5 จากรถบรรทุกได้มากถึง 82 % ภายในปี 2030 รวมถึง สั่งปิดเหมืองถ่านหินบางแห่งเพื่อลดปัญหาหมอกควันเป็นการชั่วคราว พร้อมสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาแบตเตอรี่ที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น พร้อมกับ เพิ่มสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะให้ครอบคลุมเพื่อดึงดูดประชาชนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น

เกาหลีใต้ ได้ออกมาตรการห้ามรถยนต์ดีเซลรุ่นเก่าวิ่งในช่วงฤดูหนาว 4 เดือน เพราะเป็นช่วงที่ฝุ่นหนาแน่นที่สุด รวมถึงปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราวเพิ่มขึ้น และผลักดันปัญหา PM 2.5 ให้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น โดรนพัฒนาโดยสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีกล้องวิดีโอและเซ็นเซอร์สามารถจับ วัดปริมาณฝุ่น และก๊าซจากโรงงานที่ผลิตเกินมาตรฐาน

กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพิ่มการใช้รถโดยสารพลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ลอนดอน กลายเป็นเมืองที่มีรถประจำทางไฟฟ้ามากที่สุดในยุโรป และวางแผนแปรสภาพรถประจำทางชั้นเดียวให้เป็นรถประจำทางพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย พร้อมกันนี้ นายกเทศมนตรีลอนดอน ยังประกาศด้วยว่า ทางด่วนเส้นที่ 4 ของกรุงลอนดอน ถือเป็นทางด่วนเส้นแรกที่จะมีเลนสำหรับจักรยานเข้าสู่กรุงลอนดอน ช่วยเพิ่มการปั่นจักรยานได้ถึงร้อยละ 70

ขณะที่ เยอรมนี นอกจากจะให้ประชาชนขึ้นรถสาธารณะฟรีในวันที่มีฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานแล้ว รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม ยังมีความตั้งใจผลักดันโครงการรถสาธารณะฟรีเพื่อลดปัญหามลภาวะทางอากาศในปี 2561 นำร่องใน 5 เมืองสำคัญ อย่างเมือง Bonn, เมือง Herrenberg, เมือง Reutilngen, เมือง Essen และเมือง Mannheim มุ่งหวังให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากที่สุดสนับสนุนให้ใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าขณะที่ภูมิทัศน์ของถนนในกรุงเบอร์ลินได้รับการออกแบบมาอย่างดีให้เอื้อกับการใช้รถจักรยานและรถประจำทางมากกว่าการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล