ไทยพาณิชย์ปี 63กำไร 2.72 หมื่นล้าน วูบ32% คาดสินเชื่อปีนี้โต3-5%

ไทยพาณิชย์ปี 63กำไร 2.72 หมื่นล้าน วูบ32%  คาดสินเชื่อปีนี้โต3-5%

ไทยพาณิชย์ ปี 63 กำไร 2.72 หมื่นล้านลดลง 32%จากปีก่อนที่กำไร 4 หมื่นล้านเหตุ ตั้งสำรองพุ่ง ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 3-5% สินเชื่อด้อยคุณภาพปีนี้เพิ่มขึ้นแตะ 4.0-4.5 ส่วนตั้งสำรองจะยังคงอยู่ในระดับสูงแต่ไม่เกินกว่า2%

นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)หรือ SCB เปิดเผยว่า ปี2563 ธนาคารมีกำไรสุทธิ 27,217.60 ล้านบาท ลดลง 32.69% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 40,436.35 ล้านบาท เป็นผลจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 80,437 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน (ไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีก่อน) ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่แข็งแกร่งและการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพในปี 2563 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 96,899 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 7% จากปีก่อน จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจขนาดใหญ่และการสนับสนุนสินเชื่อซอฟท์โลนให้กับลูกค้าธุรกิจ

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 47,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน (ไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปี 2562) โดยรายได้จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในช่วงปลายเดือนมิถุนายนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 64,330 ล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อน เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นเป็น 44% เปรียบเทียบกับ 49%ในปีก่อน (หากไม่รวมรายการพิเศษครั้งเดียวในปี 2562)

ในปี 2563 ธนาคารได้ตั้งสำรองจำนวน 46,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและ เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด-19อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นปี2563 อยู่ที่ 3.68% เพิ่มขึ้นจาก 3.41% ในปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลของการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 141% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับ
แข็งแกร่งที่ 18.2%

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า แม้ว่ากำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น แต่ผลประกอบการจากธุรกิจหลักของธนาคารยังคงแข็งแกร่งและเงินกองทุนของธนาคารยังอยู่ในระดับสูง


ตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านโครงการช่วยเหลือทางการเงินในด้านต่างๆ ไปแล้วมากกว่าหนึ่งล้านราย ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง ลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือได้ทยอยออกจากโครงการทำให้ยอดสินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงินลดลงเป็นอย่างมาก โดย ณ สิ้นปี 2563 มียอดรวมอยู่ที่ประมาณ 402,000 ล้านบาท หรือ 18% ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคาร


สำหรับปี 2564 การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจะมีพัฒนาการในการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ตาม

ดังนั้นธนาคารจะยังคงมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ และธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยการพัฒนาธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การขยายฐานรายได้จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และการปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ

ธนาคารมุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ และมีเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3-5 ในปี 2564 ทั้งนี้ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะยังคงได้รับแรงกดดันสูงอยู่ จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปี 2563

กลยุทธ์ของธนาคารเองที่มุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มีคุณภาพสูง ภาวะสภาพคล่องส่วนเกิน และการปล่อยสินเชื่อ
ซอฟท์โลนที่ให้แก่ลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น ธนาคารคาดว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับร้อยละ 3.0-3.2
เนื่องจากในปี 2563 ธนาคารมีบันทึกรายการรายได้ที่เกิดไม่ประจำ (non-recurring) หลายรายการ ทำให้คาดว่าการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับทรงตัว แต่คาดว่ารายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยประเภทเกิดประจำ (recurring) จะเติบโตได้ในระดับตัวเลขหลักเดียวกลาง ๆ ถึงปลาย ๆ (mid-to-high single digit)

โดยธนาคารจะยังคงมุ่งเน้นการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม จากการขายประกันผ่านช่องทางธนาคาร(Bancassurance) และธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตแม้ว่าจะชะลอลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดระลอกที่ 2 สำหรับด้านการบริหารต้นทุน ธนาคารจะบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวดและกำหนดเป้าหมายอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ ให้ลดลงสู่ระดับกลางถึงล่างของร้อยละ 40 (low-to-mid 40s)ถึงแม้รายได้อยู่ภายใต้ความกดดัน อย่างไรก็ตาม การควบคุมค่าใช้จ่ายนี้จะไม่กระทบค่าใช้จ่าย

สำหรับการลงทุนใหม่ ๆ และการเพิ่มขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจของธนาคารในส่วนของคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารมีแนวทางการบริหารจัดการและรับรู้สินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างรอบคอบควบคู่ไปกับกลยุทธ์การรักษามูลค่าสินทรัพย์ในระยะยาว ดังนั้น ธนาคารคาดว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับร้อยละ 4.0-4.5 ในปี 2564

ทั้งนี้ การตั้งสำรองจะยังคงอยู่ในระดับสูงแต่ไม่เกินกว่าร้อยละ2 ตลอดปี 2564 ดังนั้น ธนาคารคาดว่าระดับสำรองได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 2563 ทั้งนี้ ระดับสำรองที่แท้จริงอาจมีการปรับเปลี่ยนไปตามการฟื้นตัวของสภาพเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ธนาคารจะยังคงรักษาระดับอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างน้อยที่ร้อยละ 130 เพื่อรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น
จากการแพร่ระบาดและการสิ้นอายุของโครงการช่วยเหลือ