ส่องหุ้น ‘OR’ คืออะไร ?​ เปิดเหตุผล ต้นตอความแมส !?

ส่องหุ้น ‘OR’ คืออะไร ?​ เปิดเหตุผล ต้นตอความแมส !?

รู้จักหุ้นโออาร์ "OR" กับการเป็นว่าที่หุ้นขวัญใจมหาชนตัวใหม่ ส่องเหตุผล ทำไม "หุ้น OR" จึงกลายเป็นที่สนใจของประชาชนและนักลงทุนรายย่อย

ขณะนี้แวดวงการเงินการลงทุน คงไม่มีใครไม่พูดถึง หุ้น OR” ของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่เตรียมเปิดจองซื้อหุ้น OR” ภายใต้บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และเลือกใช้วิธีจัดสรรหุ้นแบบ Small Lot First หรือเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้รับการกระจายหุ้นอย่างทั่วถึง

โดยในช่วงปีที่ผ่านมามีหลายบริษัทที่คุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี เปิด IPO ครั้งแรกเช่นกัน แต่ทำไมหุ้น OR ถึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยอย่างมาก "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาไปทำความรู้จัก OR ผ่านจุดดึงดูดที่น่าสนใจ

 

  • ธุรกิจที่คุ้นเคย ความเชื่อมั่นที่สั่งสมมายาวนาน

หนึ่งในสิ่งที่นักลงทุนมักใช้ในการตัดสินใจเพื่อเลือกลงทุน คือการมองหาธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก รวมถึงดูปูมหลังทั้งตัวธุรกิจ แนวนโยบาย บรรดาผู้บริหาร หรือกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่จะนำพาไปสู่การเติบโตในอนาคต ซึ่ง บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างดี และเป็นหนึ่งในแฟล็กชิพ (Flagship) ของกลุ่ม ปตท. 

โดยธุรกิจหลักๆ มาจาก 3 ส่วน คือ

1.ธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ดำเนินการผ่านสถานีน้ำมันภายใต้แบรนด์ PTT Station ที่คุ้นตาเป็นอย่างดี ปัจจุบันมีถึง 1,968 สาขา (ข้อมูล ณ 30 ก.ย.63) มีมาร์เก็ตแชร์เป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมประเภทเดียวกันในไทยมานานกว่า 26 ปี ปัจจุบันมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 38.9% ทิ้งห่างคู่แข่งอันดับสองมากกว่าสองเท่าตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง ​ :  

2.ธุรกิจค้าปลีก หรือ Non-Oil​ Business ที่ OR นำเข้ามาบริการกับผู้บริโภคที่ปั๊ม PTT Station โดยเฉพาะร้าน Cafe Amazon ที่ในปี 2562 มียอดขายอยู่ถึง 264 ล้านแก้ว ขณะที่ปี 2563 (ข้อมูลถึง 30 ก.ย.63) มีจำนวนสาขา 3,168 สาขา ทั้งนี้ยอดเฉลี่ยของการเข้ามาใช้บริการร้านคาเฟ่อเมซอนใน PTT Station ราวๆ 3 ล้านคนต่อวัน 

หลังจากเริ่มปรับรูปแบบการขยายร้านคาเฟ่อเมซอนเป็นแบบแฟรนไชส์ ทำให้ภาพการเติบโตสูงขึ้น โดยข้อมูลช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ถึง 30 ก.ย.64 นั้น ร้านคาเฟ่อเมซอนในสถานีบริการน้ำมันเติบโตกว่า 10/5% และนอกสถานีบริการเติบโตขึ้น 46% อีกทั้งยังขยายการทำธุรกิจไปแล้ว 10 ประเทศ 

3.ธุรกิจในต่างประเทศ ที่ขณะนี้มีการขยายไปแล้ว 10 ประเทศ 

  • ผลประกอบการยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้เผชิญวิกฤติ

ในแง่ของยอดขายนั้น แม้ว่าปี 2563 จะเป็นปีที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญวิกฤติโรคระบาด และมาตรการล็อกดาวน์หรือเข้มงวดต่อการแพร่ระบาด แต่ผลประกอบการของ OR กลับยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง โดยหากย้อนดูตัวเองในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 จะพบว่าทำยอดขายไปได้ 319,308 ล้านบาท 

ขณะที่กำไรในรูปแบบ Ebitda หรือกำไรก่อนหักภาษี ค่าเสื่อมราคา และดอกเบี้ยนั้น อยู่ที่ 12,523 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนจากกลุ่มธุรกิจน้ำมัน 68% กลุ่มค้าปลีก 25% ในต่างประเทศ 5.8% ในส่วนของกำไรสุทธิอยู่ที่ 5,869 ล้านบาท

ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงแนวทางนโยบายที่มีการวางแผนมาค่อนข้างแม้ธุรกิจจะต้องเผชิญวิกฤติที่มาอย่างเร็วแบบไม่ทันได้ตั้งตัว 

  • IPO ครั้งนี้ เปิดโอกาสให้ประชาชนอย่างทั่วถึง

อีกส่วนหนึ่งคือ การเปิด IPO ครั้งนี้ เป็นการเปิดเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก และได้เปิดโอกาสให้เข้ามาจองซื้อหุ้น OR แม้จะไม่มีพอร์ตหุ้นก็ตาม ขณะที่การจัดสรรจะใช้วิธี Small Lot First หรือการกระจายหุ้นอย่างทั่วถึง โดยเริ่มในรอบแรกจะกระจายหุ้นให้ทุกคนในจำนวน 300 หุ้น หลังจากนั้นจะมีการกระจายเท่าๆ กันจนครบ และในรอบสุดท้ายจะใช้การสุ่มโดยโปรแกรม

โดยกำหนดให้ประชาชนทั่วไปได้เริ่มจองซื้อหุ้นก่อนในวันที่ 24 ม.ค. 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป จนถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 2 ก.พ. 2564 หลังจากนั้นจึงจะเปิดให้ผู้ถือหุ้น PTT เริ่มจองซื้อได้วันที่ 25 ม.ค. 2564

ทั้งนี้มีการกำหนดราคาหุ้นไว้ที่ 16-18 บาท แต่ผู้ที่จองซื้อจะต้องชำระเงินค่าจองซื้อเต็มจำนวนที่ราคาหุ้นละ 18 บาท และจะได้รับส่วนต่างคืน หากราคาเสนอขายหุ้นสุดท้ายต่างจากราคาจองซื้อ ซึ่งระบบจะคืนเงินอย่างช้าที่สุดภายใน 22 ก.พ. 2564 

นอกจากนี้รูปแบบของการจองซื้อหุ้น OR สามารถทำได้ง่ายๆ แม้ไม่มีพอร์ตหุ้นก็ตาม โดยการจองซื้อผ่านเว็บไซต์ และโมบายแบงกิ้งของ 3 สถาบันการเงิน ทั้งธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางไปจองซื้อด้วยตัวเองได้ที่สาขาธนารคารทั้งสามแห่งด้วย 

  • ภาพกลยุทธ์หลังจากระดมทุน

ภาพอนาคตองค์กรหลังจากระดมทุน OR วางเป้าหมายด้วยการขยาย PTT Station อีกกว่า 100 แห่งต่อปี จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 1,900 แห่ง เป็น 2,500 แห่งในปี 2568

ทั้งนี้เพื่อให้ขยายได้อย่างรวดเร็ว และใช้เงินลงทุนที่ต่ำ OR จึงเล็งไปที่สร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยรายย่อย จึงในรูปแบบดีลเลอร์โอเปอเรท (DODO) คือการให้ผู้แทนจำหน่ายสถานีบริการน้ำมัน เป็นผู้ลงทุนและบริหารเอง ภายใต้การกำกับของ OR เป็นสัดส่วน 80% และอีก 20% จะลงทุนเองในรูปแบบ COCO (company own company operate)

รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการรองรับความเปลี่ยนด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะความต้องการพลังงานรูปแบบใหม่ ปัจจุบันเริ่มทดลองให้บริการชาตร์จไฟฟ้าหับรถยนต์ EV แล้ว 25 แห่ง

อีกทั้งวางเป้าขยายฐานการสร้างรายได้และเพิ่มศักยภาพในการทำกำไรด้วยการคัดสรรผลิตภัณฑ์นอนออยที่เป็นแบรนด์ของ OR เอง และพันธมิตรคู่แข่ง และไม่ได้เติบโตแค่ใน PTT Staion แต่จะเป็นการเติบโตในรูปแบบสแตนอโลนเอาท์เลต 

นี่เป็นภาพส่วนหนึ่งของจุดเด่นที่น่าสนใจของ OR ธุรกิจที่ไม่ได้เติบโตแค่จากธุรกิจน้ำมัน แต่ยังขยายไปสู่ธุรกิจ Non-oil โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ยังคงเห็นทิศทางการเติบโตในอนาคต อย่างไรก็ตามการลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียดอย่างรอบด้าน