เปิดไอเดีย ‘เยียวยาโควิด’ แรงงานกลุ่ม ‘ประกันสังคม’ ดึงเงินชราภาพมาใช้ 30%

เปิดไอเดีย ‘เยียวยาโควิด’ แรงงานกลุ่ม ‘ประกันสังคม’ ดึงเงินชราภาพมาใช้ 30%

รมว.แรงงาน เผยมาตรการ "เยียวยาโควิด" ระลอกใหม่ ให้แก่กลุ่ม "แรงงาน" ช่วยทั้งนายจ้าง-ลูกจ้าง มีทั้งการปล่อยเงินกู้ ให้บริการตรวจโควิดในโรงงาน และล่าสุด.. อาจดึงเงินบำนาญชราภาพมาใช้ก่อน 30%

วันนี้ (21 ม.ค.) ณ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงตอบกระทู้ถามสดเกี่ยวกับมาตรการ "เยียวยาโควิด" ให้แก่กลุ่ม "แรงงาน" ทั้งฝั่งนายจ้างและฝั่งลูกจ้าง โดย นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ชี้แจงประเด็นดังกล่าว โดยระบุว่า 

การเยียวยากลุ่ม "ผู้ใช้แรงงาน" และ "ผู้ประกอบกิจการ" ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส "โควิด-19" ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นนั้น ทางกระทรวงแรงงานได้ดูแลทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ดังนี้

1. ช่วยนายจ้าง ให้บริการตรวจโควิดในโรงงาน

นายจ้างหรือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะนายจ้างที่ใช้เงินตนเองเพื่อตรวจโควิด-19 ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มจำนวนมาก เรื่องนี้ทางกระทรวงได้ปรึกษากับ "บอร์ดการแพทย์สำนักงานประกันสังคม" ให้โรงพยาบาลเอกชนในเครือ ออกไปช่วยผู้ประกอบการ คือ ให้บริการตรวจคัดกรองในโรงงาน เพื่อลดการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ซึ่งเรื่องนี้ทางตลาดการค้าต่างประเทศชื่นชมมาตรการดูแลของรัฐบาลไทย ทำให้ผู้รับสินค้าปลายทางมั่นใจว่าสินค้าปลอดภัย

สำหรับเคสการแพร่ระบาดโควิด-19 ใน จ.สมุทรสาคร นั้น ทางการได้ตั้งเป้าตรวจคัดกรองให้ผู้ใช้ "แรงงาน" จำนวน 1 แสนคน จากจำนวนทั้งหมดที่มี 2 แสนคน

2. ปล่อยเงินกู้ให้เป็นพิเศษ 

ทางกระทรวงฯ ได้เตรียมวงเงินไว้ให้นายจ้างจำนวนหนึ่งเพื่อให้กู้ยืม โดยล่าสุดพบว่า มีกลุ่มนายจ้างได้กู้เงินในส่วนดังกล่าวแล้ว 3,000 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องลดคนงาน อีกทั้งยังมีการลดส่งเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมด้วย

โดยล่าสุด.. ในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเมื่อวันที่ 15-21 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีแรงงานต่างด้าวที่ “มีนายจ้าง” และอยู่ในระบบทะเบียนแรงงาน จำนวน 1 แสนคน และแรงงานต่างด้าวที่ “ไม่มีนายจ้าง” ยังไม่เข้าระบบ จำนวน 7,000 คน

3. "แรงงานต่างด้าว" ต้องทำประกันสุขภาพ

ในประเด็นการรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวที่ไม่อยู่ในระบบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มองว่าไม่ถูกต้องที่จะนำภาษีของประชาชนคนไทยไปจ่ายให้ ดังนั้นจึงต้องทำประกันสุขภาพให้กลุ่มแรงงานต่างด้าว ราคา 3,200 บาท และหากแรงงานกลุ่มดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนและเข้าสู่ระบบประกันสังคม ครบ 3 เดือน จะสามารถขอคืนเงินทำประกันสุขภาพได้ ขณะที่ค่าตรวจโรคนั้น จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 2,300 บาท

4. พิจารณานำ "เงินบำนาญชราภาพ" มาใช้ก่อน 30%

รมว.แรงงาน ระบุอีกว่า ได้มีการตั้งอนุกรรมการเพื่อพิจารณานำ "เงินบำนาญชราภาพ" ออกมาใช้ 30% เพื่อ "เยียวยาโควิด" ให้แก่กลุ่ม "แรงงาน"  แต่ทั้งนี้ ยังติดปัญหาเรื่องกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ซึ่งพยายามแก้ไขให้โดยเร็วที่สุด หากสามารถแก้ไขได้ จะเริ่มดำนินการต่อคือ

- ให้กองทุนชราภาพ สามารถคำ้ประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้

- ใช้ระบบบำเหน็จ บำนาญ ซึ่งต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์จากประชาชน

ทั้งนี้วิธีดังกล่าวต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ซึ่งอาจเข้าสู่ ครม. ประมาณเดือนกันยายน นอกจากนั้นได้หารือกับสมาชิกวุฒิสภานอกรอบ เพื่อพิจารณาถึงเรื่องดังกล่าว และได้มีการตีความและนำเสนอให้กฤษฎีกาตีความ เพื่อนำเงินส่วนดังกล่าวมาช่วยเหลือประชาชนให้ได้เร็วที่สุด