โจทย์ความพร้อมและเร็ว เรื่องของ“คน”ในอีอีซี

โจทย์ความพร้อมและเร็ว   เรื่องของ“คน”ในอีอีซี

ประเด็นความท้าทายของโครงการ EEC ที่จะให้เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไฮเทคและมีนวัตกรรมนั้น พื้นที่นี้ต้องมีความพร้อมในการนำเสนอสิ่งต่าง ๆ เพื่อการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน

ประเด็นความท้าทายของโครงการ EEC ที่จะให้เป็นฐานเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไฮเทคและมีนวัตกรรมนั้น พื้นที่นี้ต้องมีความพร้อมในการนำเสนอสิ่งต่าง ๆ เพื่อการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC นี้ ในขณะนี้ภาพของของความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค ระเบียบ กติกา และมาตรการจูงใจต่าง ๆ เดินหน้าไปค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง สนามบินใหม่ ท่าเรือน้ำลึก ผังเมือง เรียกได้ว่าพอเป็นรูปเป็นร่างและมีเห็นภาพอนาคตที่ชัดเจน แต่เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือความพร้อมและเพียงพอด้านบุคลากร และการสนับสนุนการพัฒนาความรู้ ความชำนาญของบุคลากรที่จะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมใหม่ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะความรู้ ทักษะ และความชำนาญสมัยใหม่และหลายอย่างยังไม่มีการเรียนการสอนในบ้านเรา ดังนั้นไม่ใช่เฉพาะแรงงานเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่สถาบันการศึกษาในประเทศที่ต้องร่วมพัฒนาตัวเองพร้อมไปด้วย และที่ผ่านมานั้นยังเห็นได้ว่าต้องเร่งดำเนินงานเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนมากขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ประมาณการความต้องการแรงงานในพื้นที่ EEC ไว้กว่า 476,000 ตำแหน่งงาน ใน 5 ปีข้างหน้า หรือเมื่อการลงทุนเป็นไปตามเป้าที่วางไว้กว่า 5 แสนล้านบาท โดยกว่าครึ่งหนึ่งนั้นเป็นความต้องการในระดับอาชีวะและระดับปริญญาตรี โดยสาขาดิจิตัลต้องการกว่า 110,000 คน สาขาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะกว่า 58,200 คน ยานยนต์ 54,000 คน และสาขาโลจิสติกส์สมัยใหม่อีกกว่า 109,000 คน ฯลฯ ทั้งหมดเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับรัฐบาลที่จะสร้างความร่วมมือของสถาบันการศึกษาทั้งระดับอาชีวะ อุดมศึกษา และโรงเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้

ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทาง สกพอ. ได้ออกแบบการพัฒนาบุคลากรที่เรียกว่า EEC model ในการพัฒนาคนแบบ Demand driven จริง ๆ ซึ่งแบ่งเป็นสองแบบ คือสร้างบุคลากรในระยะยาวสำหรับอุตสาหกรรมสมัยใหม่ เรียก Type A และ สำหรับอบรมระยะสั้น เพื่อการเพิ่มทักษะ เปลี่ยนทักษะ หรือสร้างทักษะใหม่ ให้กับบุคลากรในอุตสาหกรรม เรียกว่า Type B โดยทั้งสองแบบนั้นผู้ประกอบการจะเป็นผู้มาร่วมออกแบบหลักสูตรกับสถาบันการศึกษา และร่วมดำเนินการในการสอน การดูงาน และการอบรมตลอดหลักสูตร โดยเฉพาะ Type B นี้รัฐจะออกค่าใช้จ่ายให้ครึ่งหนึ่งกับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการและสามารถนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการหักภาษีได้อีก250% ส่วนแรงงานที่เข้าร่วมโครงการได้รับการันตีด้านรายได้และการมีงานทำ และปัจจุบันนี้ สกพอ. ได้ประกาศรับรองหลักสูตรทั้งหมด 89 หลักสูตรแล้ว

นอกจากนี้ พื้นที่แห่งนี้ยังเป็นพื้นที่เปิดกว้างให้กับสถาบันการศึกษาระดับโลกมาเปิดสาขาและร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในประเทศ ซึ่งตอนนี้ ก็มี มหาวิทยาลัยอมตะ ที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน
(National Taiwan University) เปิดหลักสูตรสาขาวิศวกรรม Intelligent Manufacturing System โดยมุ่งเน้นการพัฒนาหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาช่วยระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon) จากสหรัฐอเมริกาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL) เพื่อเปิดสอนหลักสูตรสารสนเทศและวิทยาการคอมพิวเตอร์ และสถาบันสถาบันเลส์โรช (Les Roches) จากสวิตเซอร์แลนด์ที่ชำนาญด้านการบริการ การบริหารจัดการโรงแรม และ hospitality services ต่าง ๆ สถาบันระดับโลกเหล่านี้ เพราะจะเป็นแหล่งสร้างความรู้ใหม่ ๆ สำหรับอุตสาหกรรมอนาคตที่เป็นเป้าหมายของการลงทุนใหม่ ๆ ในพื้นที่นี้ ผมว่านี้คือเสาเข็มของการสร้างอนาคตที่สำคัญของเรื่อง “คน” สำหรับอนาคต

อย่างไรก็ตามในช่วงปีที่ผ่านนี้ผลการดำเนินงานของโครงการนี้อาจให้ผลน้อยไปเมื่อเทียบกับความต้องการแรงงานทั้งหมดที่คาดว่าจะมีกว่า 470,000 คนในปี 2566 นั้นยังต้องออกแรงอีกมหาศาล จากตัวเลขในปี 2563 ที่ดำเนินการไปได้ 8,580 คน ที่เป็นโครงการ Type A จำนวน 2,516 คน และ Type B อีก 6,064 คน ถือว่าน้อยมาก ทั้งนี้อาจเป็นเรื่องงบประมาณที่จำกัด จำนวนภาคเอกชนที่เข้าร่วมในช่วงปีที่ผ่านมายังมีน้อย และหลายแห่งต้องชะลอการดำเนินการเนื่องจากปัญหาโควิด รวมทั้งการชะลอการลงทุน และการขยายกิจการ ฯลฯ

นับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงปี 2566 นั้น โจทย์ใหญ่สำหรับ EEC คือ การเร่งพัฒนาบุคลากรเหล่านี้อย่างเร่งรีบอย่างไร และแน่นอนสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาเครือข่ายในพื้นที่จำนวน 7 แห่ง อาชีวะอีก 17 แห่ง และนอกพื้นที่รวมแล้วในวันนี้จำนวน 9 อุดมศึกษา และอีก 61 อาชีวะ ก็ไม่น่าทันต่อการสร้างคนที่เพียงพอและทันกับความต้องการแน่ ๆ ผมว่าเราอาจต้องมองในเชิงมหภาคมากกว่าในระดับพื้นที่มากกว่านี้ ต้องเข้าใจว่าบุคลากรสามารถโยกย้ายได้ตามความต้องการและแรงจูงใจ เพียงแต่เราต้องสร้างทักษะ ความรู้ และวิทยาการสมัยใหม่ที่ต้องการออกไปสู่จุดพัฒนาอื่น ๆ ทั่วประเทศ วันนี้เรามีแหล่งที่จะสร้างจำนวนมากทั่งประเทศ แต่ความเข้าใจและ mindset ของผู้บริหารสถาบันเหล่านั้นต้องปรับเปลี่ยนอย่างไรเป็นโจทย์ใหญ่ของผู้เกี่ยวข้องละครับ

นอกจากนี้การนำเข้าแรงงานที่มีทักษะ ช่างเทคนิค และบุคคลที่มีความชำนาญเฉพาะด้านให้สามารถเข้ามาง่ายกว่าที่เป็นอยู่ เพราะวันนี้เรายังหารือกับ BOI และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องวีซ่า work permit กันอยู่เลย เรื่องเดิม ๆ มาหลายสิบปีแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวคูณของการกระจายทักษะและความรู้ใหม่ ๆ โดยกำหนดให้สอนและอบรมในสถาบันการศึกษาหรือร่วมโครงการทั้งสอง Types ของ สกพอ. รวมทั้งให้สอนในสถาบันการศึกษาในสาขาที่ตนเองชำนาญเส้นทางการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ในสายตาของ EEC วันนี้ชัดเจน เพียงแต่การเดินทางอาจใช้เวลามากเพราะ ถนนขุรขระ มีสิ่งกีดขวางบ้าง และในปีที่ผ่านมาก็มีพายุโควิดเข้ามาอีก แต่สิ่งที่ต้องทำในปีใหม่ที่สภาพอากาศเริ่มสว่างทางชัดขึ้นกว่าปีที่แล้ว อาจต้องเร่งเครื่องกว่าเดิม หาคนอื่นจากที่อื่นมาช่วยมากขึ้นเหมือนเติมเทอร์โบให้เครื่องยนต์ เพราะมีคนรออยู่ปลายทางเยอะ ไม่งั้นเขาไปที่อื่น ครับ