"เลขาฯ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ" เผย กมธ.เตรียมเคาะ วันนัดโหวตรายประเด็น พรุ่งนี้

"เลขาฯ กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ" เผย กมธ.เตรียมเคาะ วันนัดโหวตรายประเด็น พรุ่งนี้

"นิกร" เผย ที่ประชุมกมธ.แก้รัฐธรรมนูญ เคาะปรับปฏิทินทำงาน พรุ่งนี้ รู้ชัดนัดโหวตวันไหน มั่นใจไม่มีปัญหา ในหลักการมี ส.ส.ร.

       นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา  ฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ(กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา กล่าวว่าในการประชุม กมธ. วันที่ 21 มกราคม จะทบทวนปฏิทินการทำงาน ตามที่นายวิรัช รัตนนเศรฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และประธาน กมธ. ได้ตกลงร่วมกับ วิปฝ่ายค้าน ว่า จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระสอง ดังนั้น กมธ.ต้องปรับตารางการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตามตนตอบไม่ได้ว่า การพิจารณาจะแล้วเสร็จเมื่อใด หรือกรอบการพิจารณาจะมีลำดับอย่างไร เพราะต้องให้ที่ประชุมกมธ. พิจารณาให้ความเห็น

       นายนิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับการพิจารณา ในส่วนของการลงมติเพื่อตัดสินในรายละเอียดนั้น เชื่อว่าจะใช้วิธีการลงคะแนนตัดสิน เบื้องต้นนั้นมี 3 กรอบใหญ่ที่ต้องลงมติ คือ 1.เกณฑ์การออกเสียงเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ ในการแก้ไขมาตรา 256, 2. ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ 3. การออกเสียงประชามติหลังจากที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ส่วนตัวเชื่อว่าในประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดให้มีส.ส.ร. นั้นจะไม่มีปัญหาใดในระหว่างกรรมาธิการฯ ที่มาจากฝ่ายต่างๆ เพราะแต่ละฝั่ง ทั้ง ฝ่ายค้าน,​ฝ่ายรัฐบาล และวุฒิสมาชิก ล้วนเห็นชอบกับหลักการใหญ่ที่ให้มีส.ส.ร. ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ​ ส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องนั้นถือเป็นประเด็นปลีกย่อย
       เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า การนัดลงมติจะเกิดขึ้นช่วงสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ หรือไม่ นายนิกร กล่าวว่า ต้องให้กมธ. พิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ดีในฐานะฝ่ายเลขานุการฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมของการประชุม โดยเฉพาะการขอใช้ห้องประชุมงบประมาที่ต่อเนื่อง ไปจนถึงวันสิ้นสุดการทำงานของกมธ.ฯ แล้ว ส่วนกรณีที่จะมีการขยายวันพิจารณาเพื่อเร่งทำงานให้แล้วเสร็จเชื่อว่าทำได้ไม่มีปัญหา ส่วนการลงมติที่ถูกจับตานั้น เป็นประเด็นที่กมธ.ต้องหารือด้วยว่าจะใช้จังหวะนำเพื่อนำประเด็นหลักดังกล่าวลงมติ ทั้ง การลงมติให้กรอบใหญ่ จากนั้นจึงลงสู่รายละเอียด หรือ คุยกันให้ครบทุกประเด็นของร่างแก้ไข จากนั้นจึงนัดลงมติในตอนท้าย  รวมถึงการเสนอคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง 103 คนที่จะพิจารณาว่าจะเป็นช่วงเวลาใดและใช้การจัดกลุ่มรูปแบบใด.