‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’แข็งค่า’ที่29.98บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’แข็งค่า’ที่29.98บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินคึกคักจากความหวังเรื่องแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่สหรัฐ แต่กลงทุนในตลาดเงินกลับไม่รีบร้อนกลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงส่วนฝั่งเงินบาทระยะสั้นปรับตัวแข็งค่ากลับเร็ว มีแรงซื้อหลักจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศที่ขายทำกำไรดอลลาร์ และกลับมาถือเงินบาทเพื่อดูสถานการณ์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.98 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่30.03 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินยังคงคึกคักในช่วงคืนที่ผ่านมา เนื่องจากมีทั้งความหวังเรื่องแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่จากว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางเจเน็ต เยลเลน พร้อมกับการประกอบผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนฝั่งสหรัฐในไตรมาสสี่ที่สดใส ทำให้นักลงทุนเลือกขายทำกำไรหุ้นในยุโรปที่ปรับตัวขึ้นในวันก่อน กดดันให้ดัชนีSTOXX 600 ปรับตัวลง 0.19% และเข้าซื้อหุ้นสหรัฐนำโดยกลุ่มเทคโนโลยี หนุนให้ดัชนี S&P 500 ทะยานขึ้น 0.81%

อย่างไรก็ดีนักลงทุนในตลาดเงินกลับไม่รีบร้อนกลับเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยง สังเกตุได้จากบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีที่ทรงตัวระดับ 1.09% เนื่องจากตลาดมองว่า นโยบายการคลังของนายไบเดน อาจไม่สามารถทำได้ทันทีทั้งหมด ส่วนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ก็ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับสูงมากแล้ว นอกจากนี้ตราสารหนี้ในประเทศเกิดใหม่ก็มียีลด์ต่ำหรือความผันผวนสูงไม่น่าสนใจ

ส่วนฝั่งเงินบาทระยะสั้นปรับตัวแข็งค่ากลับเร็ว โดยมีแรงซื้อหลักจากนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศที่เชื่อว่าการแข็งค่าของดอลลาร์เป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้นจึงเริ่มขายทำกำไร และกลับมาถือเงินบาทเพื่อรอดูสถานการณ์แนะนำจับตาทิศทางของตลาดทุนที่คาดว่าจะเป็นบวก และการควบคุมการระบาดของโคโรนาไวรัสในวันนี้

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมกลับมาเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) ท่ามกลางความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯใหม่จากรัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากนางเจเน็ต เยลเลนรัฐมนตรีคลังคนล่าสุด แม้ว่า ถ้อยแถลงบางส่วนของรัฐมนตรีคลังจะสะท้อนว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯจะยังคงดำเนินต่อไป และกระทรวงการคลังก็อาจพิจารณาการนโยบายขึ้นภาษีในอนาคตก็ตาม

ภาพดังกล่าวทำให้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นราว 0.8% ทำจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มพลังงาน ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ WTI กว่า 1.3% สู่ระดับ 53 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อย่างไรก็ดี แม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯจะปรับตัวขึ้นทำนิวไฮ แต่สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างบอนด์10ปี กลับไม่ได้เคลื่อนไหวตามสภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดมากนัก โดยยีลด์10ปีสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพียง 0.03% สู่ระดับ 1.09% สะท้อนว่า ความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯอาจได้สะท้อนในการปรับตัวขึ้นของยีลด์10ปีไปมากแล้ว

ส่วนในฟากตลาดค่าเงิน ผู้เล่นในตลาดกลับมาลดสถานะการถือครองเงินดอลลาร์ หลังรัฐมนตรีคลังเจเน็ต เยลเลนต้องการที่จะให้เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ ราว0.3% โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ย่อตัวลงมาที่ระดับ 90.50 อีกครั้ง

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามการเข้ารับตำแหน่งของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน รวมถึง นโยบายต่างๆ ที่จะถูกผลักดันออกมาในช่วงระยะเวลา 100 วันแรกของการทำงาน โดยเฉพาะ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ

เราคงเชื่อว่า เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้ หากสถานการณ์การเมืองสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลายลง และเริ่มเห็นภาพการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโจ ไบเดน

อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น ภาพตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการปรับฐาน หากตลาดผิดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่อาจเผชิญแรงกดดันจากพรรครีพับลิกัน และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอาจออกมาแย่กว่าคาด ซึ่งภาพดังกล่าวสามารถหนุนให้ เงินดอลลาร์พร้อมกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ ตามความต้องการหลบความเสี่ยงในสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ชั่วคราว

ส่วนในฝั่งเงินบาท  ทิศทางเงินบาทยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซึ่งก็ขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19ในประเทศ โดยในระยะสั้น ต้องจับตามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่คาดว่า รัฐบาลจะประกาศภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจช่วยหนุนให้เงินบาท แข็งค่าขึ้นในระยะสั้นได้

ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจไม่แข็งค่าไปมาก เพราะผู้นำเข้าก็รอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทใกล้ระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.15-30.20 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบต่อไป