‘ศาล-เทคโนโลยี’ การตอบรับโควิดรอบใหม่

‘ศาล-เทคโนโลยี’ การตอบรับโควิดรอบใหม่

"เทคโนโลย" นอกจากจะดิสรัปธุรกิจและองค์กรต่างๆ และยิ่งเร่งความเร็วขึ้นเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับ "ศาล" และกระบวนการยุติธรรมที่ต้องเปลี่ยนแปลง ทั้งการพิจารณาคดี การบริหารจัดการคดี รวมถึงการประกันออนไลน์

ผลจากโควิดรอบที่แล้วแม้ยังไม่คลี่คลาย การระบาดระลอกใหม่ก็กลับมาอีกครั้ง ในครั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าองค์กรต่างๆ ได้เตรียมการปรับตัวเพื่อตอบรับนโยบาย Social Distancing ได้ดีขึ้น โดยในส่วนของศาลและกระบวนการยุติธรรม ได้ออกมาตรการและแนวทางปฏิบัติต่างๆ เพื่อรองรับการบริหารจัดการคดีโดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ซึ่งบทความฉบับนี้จะขอยกเรื่อง “ศาล” และ “เทคโนโลยี” มากล่าวต่อไป

  • เริ่มต้นจากแนวทางพิจารณาคดีออนไลน์

เมื่อปีที่แล้ว โควิดได้ส่งผลให้ศาลชั้นต้นต้องเลื่อนนัดพิจารณาคดีร่วม 3 เดือน ดังนั้นในเดือน ต.ค.2563 จึงมีการประกาศใช้ “ข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563”

(ข้อกำหนดฯ) เพื่อเป็นทางเลือกในการอำนวยความสะดวกให้การพิจารณาคดีความของศาลให้สามารถกระทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (มาตรา 51 วรรค 2 และ 68) ที่กำหนดให้การยื่น/ส่งสำเนาคู่ความ รวมถึงการจัดทำคำพิพากษาตลอดจนสำนวนในคดีสามารถทำในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ และให้ถือว่าสิ่งพิมพ์ออกของข้อมูลดังกล่าวที่ทำถูกต้องตามวิธีการที่ศาลกำหนดใช้แทน “เอกสารต้นฉบับได้”

ดังนั้น จากข้อกำหนดฯ ในข้างต้นจึงได้เปิดช่องให้การพิจารณาคดีสามารถกระทำได้ในกรณีที่ 1) ศาลเห็นสมควร หรือ 2) คู่ความได้ร้องขอ โดยข้อกำหนดดังกล่าวได้ให้ดุลยพินิจต่อศาลในการพิจารณาว่า คดีนั้นๆ สมควรพิจารณาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ เช่น เป็นวิธีที่สะดวกกับคู่ความในคดีหรือไม่? คู่ความในคดีสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากน้อยเพียงใด? การใช้รูปแบบออนไลน์เป็นอุปสรรคกับคู่ความฝ่ายใดจนเกินควรหรือไม่?

  • โควิดรอบใหม่และการเลื่อนคดี

อย่างไรก็ดี แม้จะมีแนวปฏิบัติของศาลในเรื่องการพิจารณาและให้บริการออนไลน์แล้วก็ตาม แต่ด้วยผลจากการแพร่ระบาดรอบนี้ครอบคลุมในหลายพื้นที่ และได้มีการประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุดหรือโซนสีแดง ซึ่งเป็นอุปสรรคทั้งต่อประชาชนในการเดินทาง และต่อศาลในการพิจารณาไต่สวนในเขตพื้นที่ศาล ดังนั้น จึงได้มีการประกาศเลื่อนคดีในศาลชั้นต้นออกไปจนถึงวันที่ 28 ก.พ.2564 โดยศาลจะยังไม่กำหนดวันนัดใหม่ แต่จะแจ้งให้คู่ความทราบทางโทรศัพท์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดที่เห็นสมควร

นอกจากนี้ยังให้ศาลพิจารณางดดำเนินการเกี่ยวกับการออก/ส่งหมายสำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัยในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) อีกด้วย (ตามแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับที่ 4 วันที่ 15 ม.ค.2564)

  • การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการคดี

ตามแนวปฏิบัติของศาลในสถานการณ์โควิดที่ได้กล่าวมาข้างต้น สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการคดีในด้านต่างๆ ของศาล ยกตัวอย่างเช่น “โครงการ Drive Thru” สำหรับการให้บริการยื่นคำร้อง รับคำฟ้อง หรือใบเสร็จ รวมถึงเอกสารต่างๆ ต่อศาล โดยไม่ต้องลงจากรถ ซึ่งเป็นการสะท้อนการให้บริการ One Stop Service ได้เป็นอย่างดี โดยประชาชนสามารถดาวน์โหลดเอกสารต่างๆ เพื่อใช้ยื่นสำหรับช่องทาง Drive Thru ได้ในหน้าเว็บของศาล (ศาลที่ให้บริการ เช่น ศาลจังหวัดธัญบุรีและศาลแขวงพระนครเหนือ)

นอกจากนี้ ในกรณีของคดีอาญา หากจำเลยถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ และมีความจำเป็นต้องสอบถามหรือพูดคุยกับจำเลยในประเด็นต่างๆ เช่น การสอบถามว่ามีทนายในคดีหรือไม่ รวมถึงการอ่านและอธิบายคำฟ้อง

การสอบถามคำให้การ รวมถึงการตรวจพยานหลักฐานต่างๆ สามารถกระทำผ่านการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (มาตรา 87/1) และระเบียบต่างๆ ที่ประธานศาลฎีกาได้ออกเป็นแนวทางไว้ (เช่น ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำหรือสถานที่กักขังในระหว่างการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 และข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการสืบพยานคดีอาญาในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2556)

  • ประกันตัวออนไลน์

ล่าสุด ต้นเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ได้มี “ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรม เรื่อง การขอปล่อยชั่วคราวทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศ” เพื่อรองรับระบบบริการออนไลน์ หรือ Court Integral Online Service (CIOS) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการเกี่ยวกับการยื่น/ส่งเอกสารในคดี และมีการขยายการให้บริการรวมไปถึงในคดีอาญา โดยผู้ต้องหา/จำเลยสามารถขอยื่นประกันตัวออนไลน์โดยไม่ต้องเดินทางมายังศาล

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ ผู้ต้องหา/จำเลยในคดีอาญาต้องลงทะเบียนเพื่อพิสูจน์ตัวตนในระบบ CIOS ก่อนจึงจะสามารถใช้บริการออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว คำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว หรือตรวจสอบข้อมูลคดีในเบื้องต้นได้

ทั้งนี้ “ชื่อผู้ใช้ระบบ” และ “รหัสผ่าน” ที่ใช้ในระบบ CIOS ถือเป็น “หลักฐานแสดงการลงลายมือชื่อ” ตามหลักการเรื่องลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผลเท่ากับการลงลายมือชื่อด้วยปากกา

จากนั้น สำหรับศาล เมื่อได้รับคำร้องและมีคำสั่งประการใดก็ตาม จะมีการลงข้อมูลในระบบ CIOS และมีการแจ้งคำสั่งดังกล่าวแบบเอสเอ็มเอสไปยังผู้ต้องหา/จำเลยเพื่อให้เข้าไปตรวจสอบคำสั่ง ซึ่งเมื่อผู้ต้องหา/จำเลยรายนั้นได้รับเอสเอ็มเอสแล้ว ก็เท่ากับว่าได้ทราบถึงคำสั่งศาลแล้ว

อย่างไรก็ดี หากเป็นกรณีที่การทำ “สัญญาประกัน” ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ผู้ต้องหา/จำเลยต้องเดินทางมาพิสูจน์ยืนยันตัวตนที่ศาล (face-to-face) ก่อน อย่างไรก็ดี หากมีการกำหนดหลักประกันเป็นเงินสด สามารถโอนเข้าบัญชีศาล พร้อมแนบหลักฐานการโอนและจัดทำสัญญาออนไลน์ในระบบได้โดยไม่ต้องยืนยันตัวตันที่ศาล และในกรณีที่ศาลกำหนดหลักประกันเป็นอย่างอื่น เช่น โฉนดที่ดิน สลากออมสิน ผู้ขอประกันต้องนำหลักประกันมาเสนอที่ศาล ซึ่งในกรณีหลังนี้จะไม่สามารถทำออนไลน์ได้

ท้ายที่สุด ผู้เขียนเชื่อว่าเราอยู่ในยุคที่ “เทคโนโลยี” ช่วย Maximize profit หรือเพิ่มผลกำไรหรืออำนวยประโยชน์สูงสุดให้กับทุกองค์กร ไม่เว้นแม้แต่ในกระบวนการยุติธรรม

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)