‘สต็อกเรดาร์’ สแกนลงทุน ทำเรื่อง ‘หุ้น’ ให้เป็นเรื่องง่าย

‘สต็อกเรดาร์’ สแกนลงทุน ทำเรื่อง ‘หุ้น’ ให้เป็นเรื่องง่าย

ปัญหาใหญ่ของนักลงทุนมือใหม่ คือ ความซับซ้อนในตลาดหุ้นและการขาดแคลนข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการลงทุน ทำให้นักปั้นแอพพลิเคชั่นมืออาชีพผันตัวจากกิจการซอฟต์แวร์เฮาส์ สู่เทคสตาร์ทอัพพัฒนา “StockRadars” แอพพลิเคชั่นตรวจจับหุ้น

ธีระชาติ ก่อตระกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามสแควร์ เทคโนโลยี จำกัด ผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่นดูหุ้นชื่อดัง StockRadars กล่าวว่า "สต็อกเรดาร์" เกิดจากความสนใจซึ่งเป็นธุรกิจประเภท Retail Investment หรือการลงทุนจากผู้เล่นรายย่อย จุดเด่นคือการวิเคราะห์ข้อมูลหุ้นในตลาดที่ซับซ้อนให้เข้าใจง่าย ทำให้บุคคลทั่วไปมีข้อมูลเชิงลึกแต่ง่ายต่อความเข้าใจ 

161106870774

โดยมีแนวคิดเรื่องการสร้าง “เรดาร์” หรือฟิลเตอร์ช่วยกรองหุ้นตามเงื่อนไขหรือสูตรที่กำหนด และเข้าถึงข้อมูลปกติที่เข้าถึงยาก ฟังก์ชันที่ให้ผู้ใช้ซื้อขายหุ้นได้โดยทันที จบในที่เดียว ไม่ต้องเสียเวลาไปเปิดดูหุ้นทุกตัวในตลาด เนื่องจากในตลาดหุ้นจะมีเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างรวดเร็ว มีข้อมูลเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยให้บริการในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนมือถือทั้งบนระบบปฏิบัติการ ไอโอเอส และ แอนดรอยด์

ทั้งนี้ สต็อกเรดาร์จะมีสัญญาณตรวจจับให้นักลงทุนตั้งค่าได้ ทำให้สามารถประยุกต์ใช้กับการลงทุนได้ ซึ่งจะทำให้ได้ไอเดียในการลงทุนที่กว้างขึ้น นอกจากนี้มี Top Shareholders เรดาร์คอยตรวจจับความเคลื่อนไหวของผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือเจ้าของกิจการนั้นๆ ในตลาดหุ้นไทย โดยหากผู้บริหารมีการซื้อขาย เรดาร์ที่นักลงทุนตั้งค่าไว้ก็จะแจ้งเตือนให้รู้ว่าเจ้าของกิจการมีการซื้อขายหุ้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อใช้เป็นตัวช่วยในการตัดสินใจลงทุนในตลาดหลักทรัพย์

สิ่งที่ทำให้สต็อกเรดาร์แตกต่างจากแอพฯ คือ บุคคลทั่วไปสามารถได้ข้อมูล “ง่าย น้อย เร็ว” ที่สำคัญคือต้องมีแหล่งข้อมูลที่แม่นยำ เชื่อถือได้ เสมือนการติดตามนักลงทุนรายใหญ่ และสามารถ Alert ทันที เหมือนมีความเป็นโซเชียลมากขึ้นกว่าปกติ จึงไม่แปลกที่ปัจจุบันจะมียอดดาวน์โหลดมากกว่า 9.4 แสนครั้ง มีข้อมูลหุ้นทุกตัวจากตลาดหลักทรัพย์ไทย และตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซีย สิงคโปร์

ขณะเดียวกันปัจจุบันได้ออกสินค้าเพิ่ม 1 ตัวคือ “เรดาร์พ้อยท์” (Radars Point) แพลตฟอร์มสะสมแต้มจากการชอปปิงออนไลน์ โดยเรดาร์พ้อยท์จะให้แต้มกับผู้ใช้เมื่อซื้อสินค้าและบริการจากแบรนด์และร้านค้าออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะ Shopee, Lazada, Agoda, Central และแบรนด์ดังอื่นๆ โดยเมื่อสะสมอย่างต่อเนื่องก็สามารถนำแต้มไปลงทุนในหุ้นโดยไม่ต้องใช้เงิน 

โมเดลทางธุรกิจของสต็อกเรดาร์เป็นรูปแบบ B2B2C ซึ่งบริษัทไม่ได้รายได้จากลูกค้าแต่มีรายได้จากธนาคาร หรือ โบรกเกอร์หุ้น ที่ต้องการให้ลูกค้าได้ใช้เซอร์วิส และเมื่อนั้นบุคคลเหล่านี้ก็จะมาซื้อแพลตฟอร์มของบริษัทและนำไปให้ลูกค้าใช้ ซึ่งเป็นโมเดลที่ต่างจากปกติ

“เรดาร์พ้อยท์เป็นการทำ Micro Investment ต่อยอดจากสต็อกเรดาร์ทำให้ทุกคนลงทุนได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ถือเป็นครั้งแรกในเอเชียและสามารถต่อยอดได้ค่อนข้างเยอะ ปัจจุบันมีคนซื้อผ่านระบบเกือบ 500 ล้านบาท จากการเปิดใช้งานเพียงแค่ 10 เดือน”

161106874585

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจลำดับต่อไปจะเป็นการผลักดันเรดาร์พ้อยท์ ที่จะต่อยอดให้ใหญ่ยิ่งขึ้น และเมื่อมีผู้ลงทุนมากขึ้นก็จะเป็นการเชื่อมให้คนหันมาใช้ สต็อกเรดาร์มากขึ้นตามไปด้วย โดยสิ่งสำคัญคือ “ทำให้คนลงทุนได้ง่ายที่สุด” ซึ่งถือเป็นเป้าหลักในชีวิต และเมื่อมีผู้ลงทุนมากขึ้นก็จะมีคนที่เข้ามาใช้งานสต็อกเรดาร์ มากขึ้นตามไปด้วย ส่วนเป้าหมายในอนาคตตั้งเป้าที่จะขยายการลงทุนในหลากหลายประเทศ และสามารถ Explore ได้ ซึ่งเทรนด์ในการเปิดประเทศเพิ่มเติมถือเป็นเทรนด์ใหญ่ ดังนั้นก็พยายามเปิดรับพาร์ทเนอร์มาทำงานร่วมกันมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันถึงแม้ว่าสต็อกเรดาร์จะได้รับการยอมรับจากผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก แต่ ธีระชาติ กลับมองว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก สิ่งสำคัญที่ถือเป็นเทคนิคที่เขายังคงอยากจะทำงานอยู่นั่นก็คือ “ความสุข” ในการทำงานที่ได้สร้างอะไรใหม่ๆ แต่กระนั้นระหว่างทางมักจะมีอุปสรรค หรือ สิ่งที่จะฉุดรั้ง เขามองว่าในกระบวนการที่ทำให้อยู่รอดในทุกสถานการณ์ได้นั่นคือ “ต้องปรับตัวไว” พร้อมเรียนรู้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ได้ แม้ล้มแต่ต้องลุกให้เร็วที่สุด อย่างสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นผลบวก เนื่องจากเรดาร์พ้อยท์ เติบโตอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลพวงมากจากการที่คนหันมาช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้น

 

ขณะเดียวกันเมื่อเติบโตแน่นอนว่าวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ กับ “คน” เขาบอกว่าจะต้องมีการสื่อสารให้ชัดเจน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน และตั้งเป้าหมายให้เหมือนกันพร้อมกับทำให้เป็นทีมมากกว่าเป็นครอบครัว 

ส่วนกลยุทธ์ในการดึงคนให้หันมาใช้งานแพลตฟอร์มนั้น จะต้องทำให้ “เขาขาดเราไม่ได้” แต่ก่อนจะเป็นเช่นนั้น สิ่งแรกคือจะต้องมีการพัฒนาสินค้าให้ดี จะทำให้จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นตาม

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสต็อกเรดาร์ได้รับเงินสนับสนุนจาก Cyber Agent Ventures ของญี่ปุ่น ซึ่งเข้ามาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมลงทุน พัฒนาให้เรียลไทม์ขึ้น ขยายทีมงาน และทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง East Ventures ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนจากสิงคโปร์-ญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดีในฐานะสตาร์ทอัพ ธีระชาติ มองว่า สิ่งหนึ่งที่ควรเริ่มในการทำสตาร์ทอัพ คือ ต้องลงมือทำทันที เนื่องจากการทำงานต่างๆนั้นมักไม่มีกระบวนการ แต่เมื่อลงมือทำแล้วกระบวนการทุกอย่างก็จะรันตาม และจะรู้ว่าขาดอะไร จากนั้นก็จะสามารถหาทางทำขึ้นมาได้ 

“การเป็นสตาร์ทอัพไม่ใช่แค่ไอเดีย” ดังนั้น สิ่งเดียวที่จะพิสูจน์ได้คือ จำนวนฐานผู้ใช้งาน ส่วนกระบวนการง่ายที่สุดคือพัฒนาต้นแบบแอพฯขึ้นมาสักตัว ใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด ใช้เงินทุนให้น้อยที่สุด และทำให้เกิดขึ้นจริง