"คนละครึ่ง-เราชนะ"ที่มา รัฐจัดทัพปรับแผนใช้เงินกู้ฯ

"คนละครึ่ง-เราชนะ"ที่มา รัฐจัดทัพปรับแผนใช้เงินกู้ฯ

หลังการระบาดโควิด-19 เมื่อครั้งก่อน รัฐบาลไทยได้ออก  “พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาฯ เแต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเกิดโควิดระลอกใหม่ แผนการใช้เงินจึงต้องปรับและจัดการใหม่

หลังการระบาดโควิด-19 เมื่อครั้งก่อน รัฐบาลไทยได้ออก  “พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ)” ซึ่งการพิจารณาใช้เงินก้อนนี้ได้ดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่ง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเปิดโควิดระลอกใหม่ แผนการใช้เงินดังกล่าวต้องปรับและจัดการใหม่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ จึงมีโครงการบางส่วนเพิ่มขึ้นมา เช่น เราชนะ โครงการบางส่วนขยายกรอบการทำงานเพิ่ม เช่น คนละครึ่ง และบางโครงการอาจต้องยกเลิกหรือปรับลดแผนการใช้เงินแม้จะได้รับอนุมัติตามขั้นตอนแล้วก็ตาม

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้ (19 ม.ค.)มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เสนอ  พิจารณาความเหมาะสมของการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญของโครงการ และพิจารณาความเหมาะสมของการขอยกเลิกการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ดังนี้

อนุมัติให้นำวงเงินกู้เพื่อการตามมาตรา 5 (3) มาใช้เพื่อการตามมาตรา 5 (2) เพิ่มเติมจำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 ระลอกใหม่ในประเทศ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ ต่อไป

อนุมัติโครงการเราชนะ ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังกรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานหรือโครงการที่ 2.1 โดยเห็นควรกำหนดเงื่อนไขการดำเนินโครงการฯ ดังนี้ กรอบวงเงินให้ความช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ภายใต้โครงการฯ เมื่อรวมกับเงินที่ภาครัฐให้ความช่วยเหลือตามสิทธิผ่านช่องทางต่างๆ แล้วจะได้รับเงินช่วยเหลือจาก โครงการฯ รวมเป็นไม่เกิน 3,500 บาทต่อเดือน

การใช้จ่ายเงินที่ได้รับสนับสนุนจากภาครัฐ จะไม่สามารถเบิกเงินสดได้ โดยต้องนำไปใช้ผ่านระบบ เพื่อชำระค่าสินค้า เครื่องดื่ม และอาหาร โดยครอบคลุมการใช้ชำระค่าบริการในส่วนของค่าโดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะ รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (TAXI - METER) และรถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งบริการต่าง ๆ แต่ไม่รวมถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาสูบที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น

ส่วนผู้ประกอบการ/ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า ที่เป็นนิติบุคคล โดยเป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการรายย่อยที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งและตรวจสอบได้ หรือเป็นร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองตามพระราชบัญญัติกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ พ.ศ. 2547 หรือวิสาหกิจชุมชนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ระยะเวลาที่ประชาชนสามารถใช้จ่ายเงินสนับสนุนได้ ตั้งแต่ก.พ.-พ.ค.2564 และควรกำหนดกรอบวงเงินการใช้จ่ายในรูปแบบรายสัปดาห์ เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายแต่ละช่วงเวลา

ทั้งนี้ การใช้สิทธิ์ของโครงการฯ ควรสนับสนุนให้อยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกับสถานที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการควบคุมพื้นที่ของรัฐบาล

นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงานที่ 3.3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ ภายใต้กรอบวงเงินของโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2

โดยมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ดำเนินการ ดังนี้ รับความเห็นและข้อสังเกตของคณะกรรมการฯ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป,จัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์/รายวัน (แล้วแต่กรณี) เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สามารถจัดหาเงินกู้เพื่อใช้จ่ายโครงการตามแผนการใช้จ่ายเงินที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทางการเงินของภาครัฐ

รายงานความก้าวหน้าในการดำเนินโครงการ และการใช้จ่ายเงินกู้ รวมถึงปัญหา อุปสรรคในระบบ eMENSCR และจัดส่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ,ประสานกับกระทรวงการคลังในการรายงานขีดความสามารถในการชำระคืนหนี้เงินกู้ประกอบการพิจารณาของครม.ตามมาตรา 6 แห่งพระราชกำหนดฯ ด้วย

ส่วนโครงการอื่นๆ ที่ประชุมครม. ได้อนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดการใช้เงินตามพระราชกำหนดฯ ได้แก่ โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปรับลดลงเงิน จาก 9,805 ล้านบาท เป็น 3,550 ล้านบาท

ส่วนบางโครงการครม. อนุมัติให้ยกเลิกดำเนินการ ได้แก่ โครงการของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ วงเงิน 1.6 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การขอใช้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดฯ ตามข้อเสนอโครงการขององค์กรภาคประชาชนให้พิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ต่อไป