'เราชนะ' ก็ต่อเมื่อไม่ทอดทิ้งใคร

'เราชนะ' ก็ต่อเมื่อไม่ทอดทิ้งใคร

หลังจากรัฐบาลดำเนินมาตรการ “เราชนะ” แล้ว จะเหลือเม็ดเงินเพียง 2 แสนล้านบาท น่าจะน้อยเกินไปกับสถานการณ์ที่ต้องประคับประคองอีก 2 ปี การเตรียมพร้อมที่ดีคือ คุณสมบัติของการบริหารประเทศที่เหมาะสม หากคิดว่าเราชนะแล้ว ต้องชนะกันทุกฝ่าย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“เราชนะ” มาตรการ “เยียวยาโควิด” จากรัฐบาลที่หวังช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้และได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยเนื้อหา หลักการสอดคล้องกับแนวทาง “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ดำเนินการในเฟซแรกของการเยียวยาโควิด แต่เมื่อเกิดระลอกสองขึ้นมารัฐบาลจึงจำเป็นต้องงัดมาตรการขึ้นมาอีกครั้ง เพียงแต่ครั้งนี้ ใช้ชื่อโครงการว่า “เราชนะ” หลักคิด ยังอยู่ในกรอบเดิม คือในภาวะงบประมาณจำกัด ขอเลือกเยียวยากลุ่มที่เดือดร้อนที่สุดก่อน หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ เป็นอันดับแรก ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ดำเนินในกรอบช่วยเหลือทางอ้อม  

สำหรับมติ ครม.โครงการ “เราชนะ” ผู้ที่ได้สิทธิ 3,500 บาท นาน 2 เดือน ตั้งแต่ ก.พ.-มี.ค. 2564 รวมเป็นเงินเยียวยาทั้งหมด 7,000 บาท โดยผู้ที่ได้รับสิทธิ คือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย อาชีพอิสระ เกษตรกร บัตรคนจน โดยประชาชนกลุ่มเป้าหมายประมาณจำนวน 31.1 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินเยียวยาครั้งนี้ ประมาณ 2.1 แสนล้านบาท เบื้องต้นยังสามารถดึงมาจากงบประมาณที่ออกตาม พ.ร.ก.การกู้เงิน 1 ล้านล้านบาทครั้งก่อนได้ แต่หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จำเป็นต้องเยียวยาเพิ่มหรือขยายเวลามากกว่า 2 เดือน คาดว่ารัฐบาลมีแผนกู้เงินเพิ่มอยู่แล้ว เพราะหลังจากโครงการ“เราชนะ”แล้ว เหลือเม็ดเงินเพียง 2 แสนล้านบาท น่าจะน้อยเกินไปกับสถานการณ์ ที่ต้องประคับประคองกันอีกประมาณ 2 ปี

ดังนั้นหากเราเชื่อว่าสถานการณ์โควิดครั้งนี้ กว่าที่ภาคเศรษฐกิจจะกลับมานั้น อยู่ประมาณ 2 ปี ที่เชื่อว่าไม่กลับมารวดเร็วเพราะแม้จะมีวัคซีน ซึ่งเป็นความหวังของคนทั้งโลก แต่กว่าจะเสถียร คนมั่นใจคงใช้เวลาอีกระยะ และเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ทุกฝ่ายทุกองค์กรปรับแผนธุรกิจในระยะ 1-3 ปีนี้ครั้งใหญ่ กว่าที่จะเข้ารูปเข้ารอยจำเป็นต้องใช้เวลาพอควร ดังนั้นแนวทางของรัฐบาล ต้องคิดถึงภายใต้สมมติฐานที่เลวร้ายไว้ก่อนเพื่อที่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาอีก สามารถรองรับได้ทันท่วงที เท่ากับว่ามีคู่มือในการรับมือวิกฤติได้ทุกเวลา เพราะต้องอย่าลืมแม้โควิด จะหายไป โรคอุบัติใหม่ พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลา

อย่างไรก็ตามเราเห็นว่า การเตรียมพร้อมที่ดีคือ คุณสมบัติของการบริหารประเทศที่เหมาะสม ขณะเดียวกัน หากคิดว่า “เราชนะ” แล้ว ต้องชนะกันทุกฝ่าย ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกภาคส่วนต้องได้รับการเยียวยา จะมากน้อยขึ้นอยู่กับกลุ่มอาชีพ หรือขนาดของธุรกิจ เพราะต้องอย่าลืมว่า พิษโควิดนั้นภาคธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเมื่อธุรกิจต้องปิดตัวไป จะกระทบกับการว่างงาน ตกงาน ซึ่งเป็นภาระของประเทศอยู่ดี ดังนั้นเมื่อผุด“เราชนะ”ขึ้นมาแล้ว ต้องกวาดสายตา หาแนวทางให้รอบด้าน บางส่วนใช้ประกันสังคมดูแล บางส่วนให้ธนาคารแห่งประเทศไทย แบงก์พาณิชย์ ดูแล เช่นการปรับเกณฑ์แก้ พรก.ซอฟท์โลน เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งทุนมากขึ้น ถือว่ากำลังมาถูกทาง เป็นต้น หากสามารถคิดรองรับ เยียวยาทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้รอบด้านแล้ว ถึงจะสามารถเรียกได้ว่า “เราชนะ”