5 เขตกทม.พบติด'โควิด-19'สูงสุด 2 เขตยังปลอด

 5 เขตกทม.พบติด'โควิด-19'สูงสุด  2 เขตยังปลอด

สถานการณ์โควิด-19ภาพรวมแนวโน้มคงตัว ในระบบบริการชะลอตัว แต่ค้นหาเชิงรุกยังเจอคนติดเชื้อต่อเนื่อง เผย 5 เขตกทม.พบสูงสุด 2 เขตยังปลอดคนติด เข้มงวดเชิงรุกชายแดนไทย-มาเลเซีย กำชับมาตรการป้องกันในสถานที่ทำงาน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 19 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในการแถลงสถานการณ์ และความคืบหน้าผู้ติดโควิด-19 ในประเทศไทย นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทิศทางภาพรวมผู้ติดเชื้อสะสมยังคงขึ้นแต่ไม่ชัน เป็นการแสดงว่ามาตรการควบคุมโรคที่ดำเนินการมาอย่งเข้มข้นจะส่งผลดี ส่วนรายสัปดาห์นั้น ขณะนี้เข้าสัปดาห์ที่ 3 ของปี จะต้องดูว่าเมื่อครบ 7 วันจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมจะขึ้นไปเท่ากับสัปดาห์ที่ 2 หรือไม่ หรือลดลงได้อย่างแท้จริง โดยภาพรวมถือว่ามีแนวโน้มลักษณะคงตัว

“การคัดกรองเชิงรุกในชุมชนถือเป็นอาวุธที่ใช้มากและสำคัญ ในการระบาดรอบนี้ โดยการระบาดครั้งก่อนก็มีการตรวจเชิงรุกเช่นกัน แต่ครั้งนั้นตรวจเป็นหมื่นก็ไม่เจอ แสดงว่าลักษณะการแพร่กระจายเชื้อแตกต่างกัน”นพ.เฉวตสรรกล่าว

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า สถานการณ์พื้นที่กรุงเทพฯ อยู่ในระดับสูงคงตัว ผู้ป่วยรายใหม่ในรพ. ยอดสูงสุด 49 รายเมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564 หลังจากนั้นแนวโน้มลดน้อยลง และล่าสุด 9 ราย ถือเป็นสัญญานที่ดี อย่างไรก็ตาม การค้นหาในชุมชน กรุงเทพฯพยายามมองดูพื้นที่ความเสี่ยงแล้วเข้าไปเฝ้าระวัง ติดตามการกักตัวและคัดกรองเชิงรุก โดยพื้นที่ที่รายงานผู้ป่วยยืนยันสะสมสูงสุด 5 อันดับแรก คือ 1.เขตบางขุนเทียน 106 ราย 2.เขตบางแค 27 ราย 3.เขตบางพลัด 27 ราย 4.เขตจอมทอง 25 ราย และ5.เขตธนบุรี 21 ราย ส่วนเขตที่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยยืนยัน 2 เขต คือ เขตสัมพันธวงส์ และเขตสะพานสูง

นพ.เฉวตสรร กล่าวด้วยว่า สรุปสถานการณ์โรคของประเทศไทยอยู่ในระดับคงตัว เริ่มมีแนวโน้มลดลงในการพบผู้ติดเชื้อจากระบบบริการ ส่วนจากการค้นหาเชิงรุกในสถานประกอบการ ยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มาจากจ.สมุทรสาคร เน้นมาตรการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆและใช้ไทยชนะ หมอชนะ ในองค์กรและคัดแยกผู้ติดเชื้อจากที่พัก รวมถึง เข้มงวดในการเฝ้าระวังเชิงรุกบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซียต่อเนื่อง เพิ่มการรองรับคนไทยกลับประเทศผ่านด่านชายแดนไทย-มาเลเซีย ทุกจังหวัดรามยงานแผนและการเร่งค้นหาเชิงรุกในสถานประกอบการ และในชุมชนที่มีแรงงานต่างด้าว และมาตรการรองรับการกักตัวผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงช่วงเดือนม.ค.-มี.ค.2564 และยกระดับการค้นหาเชิงรุกในชุมชนของจังหวัดที่ยังพบผู้ติดเชื้อในระบบริการ และพื้นที่ควบคุมสูงสุด และเข้มงวดในการกำกับ ติดตามการกักตัวของผู้สัมผัสเสี่ยงสูงต่อเนื่อง

นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า มาตรการสถานที่ทำงานเพื่อต้านโควิด-19ในฐานวิถีชีวิตใหม่ 1. แยกขั้นตอนการทำงาน 2. ประเมินความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด 3.ทำตามมาตรการป้องกันตามระดับความเสี่ยง และ4.ประเมินผล ซึ่งประโยชน์ของมาตรการ 1.เน้นเรื่องการประเมินความเสี่ยงตอ่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ลงลึก ถึงขั้นตอนงานย่อยของกิจกรรมต่างๆในสถานที่ทำงาน 2.ทำให้เกิดการนำมาตรการที่เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงที่พบไปใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานที่ทำงานและ3.เกิดการจัดการ ป้องกัน ควบคุมโรคที่ตรงกับระดับความเสี่ยงในกาแรพร่ระบาดจริงๆ