ศก.จีนปี63ขยายตัว-ปี64เจอสารพัดปัจจัยเสี่ยง

ศก.จีนปี63ขยายตัว-ปี64เจอสารพัดปัจจัยเสี่ยง

ศก.จีนปี63ขยายตัว-ปี64เจอสารพัดปัจจัยเสี่ยง แต่ชาวจีนมีการใช้จ่ายลดลง โดยยอดค้าปลีกตลอดปี 2563 หดตัวลง 3.9%

วานนี้(18ม.ค.) สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (เอ็นบีเอส) ประกาศตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 2.3% ในปี 2563 สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจีดีพีจีนจะขยายตัวเกินหลัก 2% ถึงแม้ว่าจะขยายตัวไม่มากนัก แต่คาดว่าจีนจะเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศเดียวที่มีการขยายตัวในปี 2563 ขณะที่ประเทศมหาอำนาจรายอื่นๆ ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

แต่ชาวจีนมีการใช้จ่ายลดลง โดยยอดค้าปลีกตลอดปี 2563 หดตัวลง 3.9% ส่วนในไตรมาส 4/2563 ตัวเลขจีดีพีของจีนขยายตัว 6.5% ซึ่งดีกว่าในไตรมาส 3 ที่มีการขยายตัว 4.9%

ส่วนยอดค้าปลีกในไตรมาส 4/2563 ขยายตัว 4.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในไตรมาสแรกของปี 2563 จีดีพีของจีนหดตัวลงถึง 6.8% เนื่องจากจีนได้สั่งล็อกดาวน์กว่าครึ่งประเทศเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด แต่จีดีพีจีนก็กลับมาขยายตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 และล่าสุด จีดีพีไตรมาส 4 มีการขยายตัว 6.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัว 6.1%

จีนเผยยอดค้าปลีกปี 63 ลดลง 3.9% แต่ยอดขายออนไลน์ขยายตัวแข็งแกร่ง โดยเอ็นบีเอส รายงานว่า ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนในปี 2563 ปรับตัวลง 3.9% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ 39.2 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 6.05 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนยอดค้าปลีกในเขตชนบทลดลง 3.2% ขณะที่ยอดค้าปลีกในพื้นที่เขตเมืองปรับตัวลง 4%

ไตรมาส 4 ของปี 2563 ยอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนปรับตัวขึ้น 4.6% เทียบรายปี ซึ่งดีกว่าในไตรมาส 3 ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3.7% และรายงานยอดค้าปลีกแสดงให้เห็นถึงการบริโภคของจีนที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยอดค้าปลีกอุปกรณ์สื่อสาร เครื่องสำอาง รวมถึงทองคำ เงิน และเครื่องประดับ ปรับตัวขึ้น 26% 21.2% และ 17.3% ตามลำดับในไตรมาส 4

ส่วนยอดขายออนไลน์ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยพุ่งขึ้น 10.9% เมื่อเทียบรายปี แตะที่ 11.76 ล้านล้านหยวนในปี 2563

ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนตลอดปี 2563 เพิ่มขึ้น 2.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี ดีกว่าช่วง 11 เดือนแรกของปีที่ปรับตัวขึ้น 2.3% ส่วนในไตรมาส 4/2563 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนเพิ่มขึ้น 7.1% เมื่อเทียบรายปี และเพิ่มขึ้น 1.3% จากไตรมาส 3/2563 ขณะที่ในเดือนธ.ค. เพียงเดือนเดียว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 7.3% เพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือนพ.ย.

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นข้อมูลที่ใช้ในการวัดผลผลิตของบริษัทขนาดใหญ่ที่มีรายได้ในธุรกิจหลักต่อปีมากกว่า 20 ล้านหยวน หรือประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐและเมื่อพิจารณาตามรูปแบบธุรกิจพบว่า ผลผลิตของบริษัทรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 2.2% ขณะที่ผลผลิตของบริษัทร่วมทุนเพิ่มขึ้น 3% และผลผลิตของบริษัทที่ลงทุนโดยต่างชาติเพิ่มขึ้น 2.4%

นอกจากนี้ เอ็นบีเอส ยังรายงานว่า ยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (เอฟเอไอ) ปี 2563 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.9% แตะที่ระดับ 51.89 ล้านล้านหยวน (ประมาณ 8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรปี 2563 ขยายตัวมากกว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2563 อยู่ประมาณ 0.3%

“ข้อมูลจีดีพีแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนเกือบกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แรงขับเคลื่อนนี้ยังคงดำเนินต่อไปแม้ว่าการระบาดของโรคโควิด-19ยังคงเกิดขึ้นในสองมณฑลทางตอนเหนือของจีน ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น” หยู ซู นักเศรษฐศาสตร์จากดิ อิโคโนมิสต์ เอนเทลลิเจนซ์ ยูนิต (อีไอยู) ให้ความเห็น

แต่ไม่ได้มีแต่ข่าวดีเท่านั้นในจีน “หลี่ เว่ย”นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากสแตนดาร์ด ชาร์เติร์ด แบงก์ ให้ความเห็นว่า การส่งออกที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโรคโควิด-19และยอดขายรถยนต์ ตลอดจนยอดขายบ้านที่เกี่ยวข้องกับการขอสินเชื่อขยายตัวอย่างต่อเนื่องขณะที่ความต้องการบริโภคในประเทศปรับตัวลดลง

“ยอดซื้อบ้านในจีนและการบริโภคอาหาร เสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ขณะที่ธุรกิจภาคบริการและภาคการขนส่งยังคงเผชิญหน้าภาวะขาลงและเจอกับมาตรการคุมเข้มด้านการเดินทาง”นายหลี่ กล่าว

หนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่จีนต้องเจอในปีนี้คือสถานการณ์ตึงเครียดด้านความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐที่ยังคงมีอยู่มาจนถึงยุคที่โจ ไบเดน บริหารประเทศแทนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่จะหมดวาระลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.นี้