‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’อ่อนค่า’ที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’อ่อนค่า’ที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินฝั่งสหรัฐกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ขณะที่ฝั่งเงินบาทระยะสั้นอ่อนค่าจากแนวโน้มดอลลาร์ฟื้นตัว และนักลงทุนต่างชาติกังวลอนาคตเศรษฐกิจไทย ทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศออกมา แนะจับตาฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐและช่วงเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดีอาจเกิดแรงขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงกดดันบาทอ่อนค่าต่อได้

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.12 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่30.10 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 30.05-30.25 บาทต่อดอลลาร์

ช่วงคืนที่ผ่านมาเป็นวันหยุดของสหรัฐ แต่ตลาดยังคงเปิดรับความเสี่ยง (Risk On) ดัชนี STOXX 600 ของยุโรปปรับตัวขึ้น 0.20% ด้วยแรงหนุนจากภาพเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัว แม้จะยังมีปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำจากนโยบายรับมือการระบาดของโควิด-19 ในยุโรป ขณะที่บอนด์ยีลด์เยอรมันอายุสิบปีทรงตัวที่ระดับ -0.52%

ในตลาดอื่น มีแรงขายทำกำไรมากขึ้น เช่นน้ำมันดิบ WTI ที่ย่อตัวลงแตะระดับ 52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนที่พุ่งขึ้นเหนือระดับ 54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหลังหลายประเทศเพิ่มระยะเวลาของมาตรการล็อคดาวน์ออกไป ส่วนเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย (AUD) ร่วงลง 0.3% สวนทางกับเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่แข็งค่า 0.3% ชี้ว่าตลาดเงินอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวสูง ไม่รีบร้อนเพิ่มความเสี่ยงในช่วงนี้

ส่วนฝั่งเงินบาทระยะสั้นอ่อนค่าจากแนวโน้มดอลลาร์ที่ฟื้นตัว และความกังวลเรื่องอนาคตของเศรษฐกิจไทย ทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศออกมาบ้าง ประเด็นที่น่าจับตาต่อคือตลาดหุ้นฝั่งสหรัฐ ถ้าถูกกดดันจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่านประธานาธิบดี ก็อาจเกิดแรงขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.05-30.20 บาทต่อดอลลาร์ แม้ว่าในฝั่งสหรัฐฯ จะปิดทำการในคืนที่ผ่านมา ทว่า บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัว จากความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 รอบโลก ขณะเดียวกันตลาดก็จะรอลุ้นปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นการลงมติรับรองรัฐมนตรีคลังคนถัดไป ซึ่งมีแนวโน้มว่า นางเจเน็ต เยลเลน อดีตประธานเฟดจะผ่านการลงมติได้ไม่ยาก

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอดูท่าทีของ นางเจเน็ต เยลเลน ต่อการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะถัดไป

นอกจากนี้ ความเห็นของว่าที่รัฐมนตรีคลังต่อนโยบายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับเงินดอลลาร์ จะมีผลต่อตลาดค่าเงิน โดยถ้าหาก รัฐมนตรีคลังคนใหม่ส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการให้เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวโดยกลไกของตลาด อาจทำให้ ผู้เล่นในตลาดลดสถานะการถือครองเงินดอลลาร์ลง เพราะคิดว่า กระทรวงการคลังสหรัฐฯ รับได้ หากเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง

เราคงมุมมองว่า หากสถานการณ์การเมืองสหรัฐฯ เริ่มคลี่คลายลง และเริ่มเห็นภาพการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโจ ไบเดนตลาดก็พร้อมกลับมาเปิดรับความเสี่ยง กดดันให้ เงินดอลลาร์พร้อมกลับมาอ่อนค่าลงตามเทรนด์เดิมได้

ส่วนในฝั่งเงินบาท  ทิศทางเงินบาทยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซึ่งก็ขึ้นกับสถานการณ์ Covid-19 ในประเทศ โดยในระยะสั้น ต้องจับตา มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมที่คาดว่า รัฐบาลจะประกาศภายในสัปดาห์นี้ซึ่งความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจช่วยหนุนให้เงินบาท แข็งค่าขึ้นในระยะสั้นได้

ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจไม่แข็งค่าไปมาก เพราะผู้นำเข้าก็รอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทใกล้ระดับ 30.00 บาท/ดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.15-30.20 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบต่อไป