มาตรการ 'เราชนะ' ต้องเป็นจุดเริ่มต้นพ้นวิกฤติ

มาตรการ 'เราชนะ' ต้องเป็นจุดเริ่มต้นพ้นวิกฤติ

หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยา เช่น "เราชนะ" โดยจะจ่ายเงินให้ 3,500 บาท นาน 2 เดือน เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย การช่วยเหลือนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มที่ทำให้คนไทยพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้

การระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่ ยังคงขยายจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคลัสเตอร์ จ.สมุทรสาคร ที่มีการตรวจเชิงรุกและพบผู้ติดเชื้อในรอบหลายวันที่ผ่านมาในระดับ 200-300 คน และเป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มใหญ่ในขณะนี้ โดยเห็นได้ชัดจากจำนวนผู้ติดเชื้อวันที่ 18 ม.ค.2564 อยู่ที่ 369 คน เป็นผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนถึง 275 คน ผู้ป่วยรายใหม่จากการเฝ้าระวัง 82 คน และผู้เดินทางจากต่างประเทศและพักในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ รวมแล้วมีผู้ป่วยสะสมในประเทศไทย 12,423 คน 

การระบาดรอบใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นจาก จ.สมุทรสาคร เป็นหลัก ซึ่งแม้จะเข้าควบคุมพื้นที่ในระดับสูงสุดอย่างเข้มงวดแต่ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูงต่อเนื่อง ซึ่งคาดหวังว่าหลังจากนี้จะควบคุมคลัสเตอร์สำคัญแห่งนี้ได้หลังจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ต่างให้ความร่วมมือในการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาด ซึ่งภาคเอกชนให้ความร่วมมือในการสร้างโรงพยาบาลสนามหรือสถานที่พักฟื้นในพื้นที่หลายแห่ง เพื่อบรรเทาภาระสถานพยาบาลหลักที่ต้องรับภาระมากขึ้น

หลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 รอบใหม่มาได้ระยะหนึ่งรัฐบาลได้เตรียมมาตรการเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ โดยมาตรการสำคัญที่ถูกนำมาใช้อีกครั้ง คือ มาตรการ “เราชนะ” ที่มีหลักการเดียวกับมาตรการ “เราไม่ทิ้งกัน” โดยเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มอาชีพอิสระ เกษตรกรที่มีรายได้น้อยคนละ 3,500 บาท ระยะเวลา 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค.2564) รวมแล้วจะได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาค่าครองชีพในช่วงนี้คนละ 7,500 บาท

มาตรการ “เราชนะ” ในครั้งนี้มีเงื่อนไขที่ให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น คือ การคัดกรองไม่ให้ผู้มีอาชีพอิสระและเกษตรกรที่มีรายได้สูงได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อให้เงินที่มีอยู่จำกัดเข้าถึงมือผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลไม่มีงบประมาณจำนวนมากพอที่จะจ่ายเงินเยียวยาได้หลายรอบหลังจากนี้ ซึ่งการจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้ถึงแม้จะจ่ายเพียง 2 เดือน แต่ครอบคลุมถึง 31 ล้านคน และรัฐบาลต้องใช้งบประมาณมากถึง 210,000 ล้านบาท

การดำเนินมาตรการจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้ยังคงใช้งบประมาณที่ได้จาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังรายงานว่าในขณะนี้อยู่ประมาณ 470,000 ล้านบาท และเมื่อใช้สำหรับการจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้จะเหลืองบประมาณรับมือโควิด-19 ประมาณ 260,000 ล้านบาท เท่านั้น