ทางออกการสร้างสมดุลราคา สินค้าเกษตรไทยกับตลาดโลก

ทางออกการสร้างสมดุลราคา สินค้าเกษตรไทยกับตลาดโลก

จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาหัวมันสำปะหลังสดภายในประเทศตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่สะท้อนกลไกตลาดโลกที่ราคาอยู่ในช่วงขาขึ้น ไม่เพียงแต่ราคามันสำปะหลังแต่ยังสินค้าเกษตรอื่นๆที่เป็นต้นทางวัตถุดิบการผลิตอาหารป้อนคนทั้งโลก

กีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จึงขอความร่วมมือ3 สมาคมการค้ามันสำปะหลัง ได้แก่ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกาศราคาแนะนำสำหรับรับซื้อหัวมันสำปะหลังสดจากเกษตรกร ที่เชื้อแป้ง 25%ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัม (กก.) ละ 2.40 บาท และจะปรับขึ้นเป็นขั้นบันไดเพื่อให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรมตามกลไกตลาด

หากสมาชิกของทั้ง 3 สมาคมไม่ให้ความร่วมมือ แต่ละสมาคมจะพิจารณาใช้มาตรการต่างๆ กับสมาชิกรายดังกล่าว เช่น อาจจะขับออกจากการเป็นสมาชิก ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกรายนั้นๆ พ้นสภาพการเป็นผู้ส่งออกตามกฎหมายโดยปริยาย ขณะเดียวกัน ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ และกรมการค้าภายใน จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการกำกับดูแลการนำเข้า การส่งออก และการขนย้ายมันสำปะหลัง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อราคาหัวมันสดในประเทศ

“สาเหตุราคาหัวมันสดในประเทศตกต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากผู้ส่งออกมันเส้นไปส่งออกตัดราคากันเอง แต่ถ้าซื้อขายตามกลไกตลาด ราคาหัวมันสดในประเทศจะเพิ่มขึ้นได้แน่ เพราะจีนมีความต้องการมันเส้นเพื่อทำแอลกอฮอล์สูงมาก”

161097831083

บุญชัย ศรีชัยยงพาณิช นายกสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า  จีนกำลังขาดแคลนข้าวโพดเพื่อผลิตอาหารและแปรรูปส่งผลราคาสูงขึ้น ทำให้จีนปรับนำเข้ามันสำปะหลังไปทดแทน เพื่อผลิตอาหารแปรรูป อาหารสัตว์ และเอทานอล 

คาดว่าปีนี้จีนจะนำเข้ามันเส้นสูงถึงกว่า 7 ล้านตัน ในจำนวนนี้คาดว่าจะนำเข้าจากไทยกว่า 5 ล้านตัน ถือเป็นการส่งออกของไทยสูงกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ที่จีนนำเข้าเฉลี่ยปีละ 3.5 ล้านตัน และนำเข้าจากไทย 3 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศและส่งออกรวมกัน 40 ล้านตัน แต่ผลิตได้ในประเทศ 28 ล้านตัน ที่เหลือไทยต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน

ขณะที่ไทยส่งออกได้มาก แต่พบว่าราคารับซื้อมันสดในประเทศยังต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ซึ่งต่ำกว่าปีก่อนเพราะผู้ส่งออกต้องแข่งขันส่งออกไปจีนที่มีความต้องการน้อยและกดราคา จึงเกิดการขายตัดราคา จนกระทบต่อราคาหัวมันสดในประเทศ แต่ตอนนี้จีนเพิ่มนำเข้าเร็ว ราคาสูง และเพื่อไม่กระทบต่อเกษตรกร จึงยอมรับใช้การตั้งราคาแนะนำรับซื้อ ณ วันที่ 18 ม.ค. อยู่ที่ 2.40 บาทต่อกก.(เชื้อแป้ง25%) 

หากคิดจากเชื้อแป้งหัวมันและแอลกอฮอลล์ที่ได้จากหัวมัน โดยทิศทางราคาเอทานอลในจีนสูงขึ้นจาก 7,100 หยวนต่อตัน ก็จะเพิ่มราคาแนะนำรับซื้อในสัปดาห์ถัดไป เป็น 2.45 บาทต่อกก. และ 2.50 บาทต่อกก. ซึ่งเท่ากับราคาประกันรายได้

“ ขณะนี้มีผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไปจีน 16 ราย ก็ขอความร่วมมือให้รับซื้อมันสดในราคาแนะนำ แต่เป็นภาคสมัครใจ และไม่มีมาตรการที่จะใช้ลงโทษหากไม่รับซื้อตามราคาแนะนำ ซึ่งรัฐเองก็มีกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ในการตรวจสอบว่าต้นทุนและราคารับซื้อ นั้นเหมาะสมไหม “

รังสี ไผ่สะอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะที่เกษตรกรแบกรับต้นทุนอยู่ที่ 2.30 บาทต่อกก. และผลผลิตต่อไร่น้อยลง รายได้จึงไม่เพียงพอ 

“อยากให้รับซื้อเกิน 2.50 บาทต่อกก.เพราะดูจากราคาเอทานอลในจีนตอนนี้ทอนเป็นราคาหัวมันสด น่าจะอยู่ 2.70-2.80 บาท”

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า จากความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจีน เพิ่มมากขึ้นประกอบกับ อาร์เจนตินา มีนโยบายจำกัดปริมาณการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อสำรองไว้ใช้ในประเทศ เนื่องจากประสบภาวะ ภัยแล้ง เช่นเดียวกับยูเครนและบราซิลที่ประสบปัญหาผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีจำกัด

 ดังนั้นผู้รับซื้อข้าวโพดจึงหันไปซื้อข้าวโพดของสหรัฐ ส่งผลให้ราคาในตลาดโลกขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้น 15 -20 % นอกจากนี้ราคาข้าวสาลี ที่ปกติจะห่างจากราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ประมาณ 2 บาท ปัจจุบันราคาปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกันกันแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ต้องพิจารณาต้นทุนการนำเข้าใหม่ การนำเข้าข้าวสาลีเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์แทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศอาจไม่คุ้ม แม้ภาษีการขำเข้าจะอยู่ที่ 0 % ก็ตาม

ทั้งนี้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับเพิ่มขึ้นดังกล่าว เริ่มเห็นตั้งแต่ เดือน ก.ย. 2563 ที่มีการสั่งซื้อล่วงหน้า และส่งผลให้กระทบที่ชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปี นี้ และคาดว่าจะส่งผลกับต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ในช่วงกลางปีเป็นต้นไป