‘หลักธรรมาภิบาล’ ขององค์กรไม่แสวงหากำไร

‘หลักธรรมาภิบาล’ ขององค์กรไม่แสวงหากำไร

ส่อง "หลักธรรมาภิบาล" 9 ข้อ ขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ต้องมี เนื่องจากปัจจุบันองค์กรเหล่านี้มีบทบาทต่อสังคมเพิ่มขึ้น รวมถึงมีความสำคัญเชิงเศรษฐกิจมากขึ้นเช่นกัน จำเป็นที่องค์กรต้องมีการบริหารจัดการที่ดี

ภาคประชาสังคมในบ้านเรานับวันจะมีบทบาทมากขึ้นๆ โดยเฉพาะในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น เพราะปัญหาที่ประเทศมีกระทบชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคมโดยตรง และคนในสังคมก็สามารถรวมตัวกัน ใช้ความรู้ความสามารถที่สังคมมีร่วมกันแก้ไขปัญหา ซึ่งรูปแบบสำคัญของการรวมตัวของคนในสังคมเพื่อทำงานให้สังคม คือ องค์กรไม่แสวงหากำไร ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตสินค้าบริการหรือทำงานเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม 

วันนี้อยากเขียนเรื่องธรรมาภิบาลใน “องค์กรไม่แสวงหากำไร” ซึ่งเป็นสิ่งที่ “มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล” กำลังผลักดัน โดยพูดถึงหลักธรรมาภิบาล 9 ข้อที่กรรมการและผู้บริหารองค์กรไม่แสวงหากำไรควรต้องตระหนัก เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการให้งานขององค์กรประสบความสำเร็จ และองค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

องค์กรไม่แสวงหากำไร คือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม การปฏิบัติงานขององค์กรไม่ใช่เชิงพาณิชย์และถ้าองค์กรมีส่วนเกินจากการประกอบการ (surplus) ส่วนเกินดังกล่าวไม่สามารถแบ่งปันให้บุคคลหรือองค์กรอื่น แต่ต้องเก็บไว้ใช้ในงานขององค์กรเท่านั้น

ปัจจุบันองค์กรไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ออมทรัพย์ วัด มหาวิทยาลัย มีบทบาทมากในสังคม เพราะองค์กรเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในสังคม รวมทั้งมีศักยภาพที่จะเป็นกลไกของภาคประชาสังคมและเป็นภาคีกับภาครัฐในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น จากที่องค์กรเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการให้บริการต่างๆ แก่ประชาชน เช่น การศึกษา การออม วัฒนธรรม บริการสังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม กีฬา การรักษากฎหมาย สิทธิประชาชน และความเป็นธรรมในสังคม มีการประเมินโดยสภาพัฒน์ว่าในปี 2549 มีจำนวนองค์กรไม่แสวงหากำไรกว่า 70,000 องค์กร และความสำคัญเชิงเศรษฐกิจเทียบได้ประมาณร้อยละ 1.6 ของรายได้ประชาชาติ 

ปัจจุบันความสำคัญเชิงเศรษฐกิจขององค์กรไม่แสวงหากำไรได้เพิ่มขึ้นมาก เฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์ สินทรัพย์ของระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ก็มากเป็นอันดับสามรองจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

เป้าหมายขององค์กรไม่แสวงหากำไรคือ การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยมีกฎหมายและข้อบังคับของทางการกำกับอยู่ การบริหารจัดการทำโดยคณะกรรมการที่มาร่วมกันทำงานโดยสมัครใจ เพื่อให้พันธกิจขององค์กรประสบความสำเร็จ ภายใต้การสนับสนุนของสมาชิกหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจำเป็นที่องค์กรต้องมีการบริหารจัดการที่ดี มีธรรมาภิบาล เพื่อให้การทำหน้าที่เป็นที่ยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง และมีผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์

ที่สำคัญธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งขององค์กรไม่แสวงหากำไร จะทำให้ธรรมาภิบาลในส่วนอื่นๆ ของสังคม เช่น ภาคราชการ หน่วยงานรัฐในระดับท้องถิ่น และบริษัทเอกชนเข้มแข็งตามไปด้วย ผลักดันให้ธรรมาภิบาลในส่วนอื่นๆ ของประเทศดีขึ้น

มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ตระหนักถึงความสำคัญและศักยภาพขององค์กรไม่แสวงหากำไรในการผลักดันธรรมาภิบาลของประเทศให้ดีขึ้น จึงได้จัดทำและเผยแพร่แนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลขององค์กรไม่แสวงหากำไรสำหรับคณะกรรมการและผู้บริหาร รวมถึงแนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการตรวจสอบ และแนวปฏิบัติการประชุมกรรมการ เพื่อเป็นแนวทางส่งเสริมการทำหน้าที่ของคณะกรรมการและผู้บริหารตามหลักธรรมาภิบาล 

แนวปฏิบัติที่จัดทำขึ้นเน้นความแตกต่างระหว่างองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มีเป้าหมายอยู่ที่ประโยชน์ของส่วนรวม กับ บริษัทธุรกิจที่มีเป้าหมายเพื่อการทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของ ความแตกต่างนี้สำคัญมาก ทำให้แนวปฏิบัติของคณะกรรมการองค์กรไม่แสวงหากำไรแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับแนวปฏิบัติของคณะกรรมการบริษัท

แนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาลขององค์กรไม่แสวงหากำไรมี 9 ข้อ ได้แก่

1.คณะกรรมการและผู้บริหารขององค์กรต้องเข้าใจในบทบาทหน้าที่และวัตถุประสงค์ขององค์กรเป็นอย่างดี เพื่อให้งานขององค์กรบรรลุตามวัตถุประสงค์

2.คณะกรรมการต้องมีภาวะผู้นำและวิสัยทัศน์ เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจขององค์กรให้ประสบความสำเร็จ ตามความคาดหวังของผู้ที่เกี่ยวข้อง

3.คณะกรรมการต้องดูแลให้องค์กรดำเนินงานภายใต้กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง

4.คณะกรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ระมัดระวัง รอบคอบ ร่วมกันขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรและค่านิยม ที่จะช่วยให้พันธกิจขององค์กรประสบความสำเร็จ

5.คณะกรรมการต้องให้ความสำคัญและกำกับการบริหารความเสี่ยง และดูแลระบบการควบคุมภายใน เพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

6.คณะกรรมการและผู้บริหารต้องทำหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบ ตระหนักถึงความสำคัญของความน่าเชื่อถือ และ ความไว้วางใจที่สาธารณชนมีต่อองค์กร

7.คณะกรรมการต้องมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์ต่องานขององค์กร สามารถร่วมกันทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดี

8.คณะกรรมการและผู้บริหารต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส วางระบบงานที่เป็นมาตรฐานและตรวจสอบได้ มีการเปิดเผยข้อมูลและจัดทำรายงานตามเกณฑ์มาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง

9.คณะกรรมการและผู้บริหารต้องให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้งานขององค์กรเป็นไปตามความคาดหวัง และได้รับการสนับสนุนการดำเนินการจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

แนวปฏิบัตินี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับองค์กรไม่แสวงหากำไรประเภทต่างๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ดำเนินการไปแล้วกับสองสถาบัน คือ สหกรณ์ออมทรัพย์และวัด

กรณีสหกรณ์ออมทรัพย์ มูลนิธิฯ ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ร่วมสนับสนุนด้านวิชาการ จัดหลักสูตรอบรมธรรมาภิบาลแก่กรรมการและผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน ตามแนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาล 9 ข้อที่มูลนิธิฯ จัดทำขึ้นข้างต้น ซึ่งประสบความสำเร็จมาก ปีที่แล้วมีการอบรมให้กับกรรมการกว่า 300 คนจากสหกรณ์ออมทรัพย์ 18 แห่งทั่วประเทศ การอบรมจะมีต่อเนื่องในปีนี้

สำหรับวัด มูลนิธิฯ ได้จัดทำร่างหลักธรรมาภิบาลในการบริหารวัดในพระพุทธศาสนา และคู่มือการกำกับดูแลวัด ภายใต้โครงสร้างการกำกับดูแลที่แยกการกำกับดูแลออกจากการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล ขณะนี้มูลนิธิฯ กำลังหารือกับผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรอื่นๆ เช่น มูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อปรับปรุงร่างให้เป็นที่ยอมรับ พร้อมเสนอรายละเอียดของระบบบัญชี ระบบควบคุมภายในและการรายงาน เพื่อการนำไปปฏิบัติโดยสมัครใจ และเป็นต้นแบบให้มีการนำไปปฏิบัติใช้ในวงกว้าง

นี่คือความสำคัญของธรรมาภิบาลในองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่กำลังมีการผลักดันและขับเคลื่อน ใครที่สนใจต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรืออยากมีส่วนร่วมติดต่อมาได้ที่ [email protected] หวังว่าจะได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน