เปิดเหตุผล 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา โควิดรอบใหม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ 75%

เปิดเหตุผล 'เราชนะ' จ่ายเยียวยา โควิดรอบใหม่กระทบพื้นที่เศรษฐกิจ 75%

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค.2563 ถึงปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทั้งจากแรงงานข้ามชาติและการติดเชื่อในประเทศเพิ่มขึ้นวันละหลายร้อยรายทำให้ผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นมากเกิน 12,000 คน ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

การแพร่กระจายไปของผู้ป่วยในหลายจังหวัดทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างและแม้รัฐบาลจะเลือกที่จะไม่ล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแต่ก็มีมาตรการในการดูแลเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 14 ม.ค.และวันที่ 19 ม.ค.2564 

มาตรการที่ออกมามีทั้งการช่วยเหลือภาคธุรกิจ สินเชื่อดอกเบี้ย การยืดระยะเวลาชำระหนี้ รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนลดค่าครองชีพ และให้เงินเยียวยาแบบให้เปล่าในโครงการ “เราชนะคนละ 3,500 บาทต่อเดือนเป็นระยะเวลา 2 เดือนครอบคลุมประชากรประมาณ 30 - 40 ล้านคนโดยเป็นการแจกให้กับผู้ที่เข้าเกณฑ์ตามกลุ่มอาชีพและรายได้โดยไม่คำนึงถึงพื้นที่ที่อยู่อาศัยซึี่งเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 19 มี.ค.นี้ 

ท่ามกลางคำถามถึงความเหมาะสมว่าการออกมาตรการในลักษณะเงินให้เปล่าที่ภาครัฐเรียกว่าเงินเยียวยาแบบให้เป็นการทั่วไปครอบคลุมทุกพื้นที่มีความเหมาะสมหรือไม่หากพิจารณาจากพื้นที่ที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ซึ่งก่อนหน้านี้นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ให้ความเห็นว่าควรจำกัดพื้นที่และกลุ่มคนที่ได้รับความเดือดร้อนแท้จริงมากกว่าการให้ความช่วยเหลือแบบหว่านแห 

ขณะที่สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงานระบุว่าหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือยังไม่ตกผลึกว่าจะช่วยเหลือเป็นการทั่วไปหรือช่วยเหลือเฉพาะในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงแต่มีหลักคิดว่าพื้นที่ 28 จังหวัดนั้นถือว่าครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นจำนวนมากผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นจึงถือว่ากระทบกับคนทั้งประเทศ 

161097762518

หากดูความเห็นของหน่วยงานเศรษฐกิจอย่างสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่เป็นหน่วยงานที่เสนอเรื่อง “มาตรการการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือน ม.ค. - มี.ค.) จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระลอกใหม่”เข้าสู่การประชุม ครม.เมื่อวันที่ 14 ม.ค.64 ที่ผ่านมาก็จะเห็นถึงแนวคิดที่สนับสนุนให้การเยียวยาโควิด-19 ทำในวงกว้างแบบครอบคลุมทั่วประเทศ เนื่องจากผลกระทบที่เกิดขึ้นส่งผลต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง 

โดยหนังสือด่วนที่สุดที่ นร.1113/156 ลงวันที่ 12 ม.ค.2564 ระบุว่า “ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศระลอกใหม่ที่ขยายขอบเขตอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้างครอบคลุมในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้ ศบค.ได้ออกคำสั่งที่ 1/2564 เรื่องพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด

สศช.เห็นว่ามาตรการของ ศบค.ที่ดำเนินการในขณะนี้ยังไม่มีการปิดสถานที่ต่างๆอย่างเป็นวงกว้าง และยังไม่มีมาตรการการจำกัดการเดินทาง และการออกนอกเคหสถาน อย่างเข้มงวดทั่วประเทศ ...แต่การแพร่ระบาดละลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังมีความเสี่ยงที่จะนำปสู่ผลกระทบอย่างต่อเนื่องมีมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะ

...ในพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ให้ครอบคลุมเนื่องจากมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่ควบคุมดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 75% ของผลิตภัณฑ์มวลในประเทศ (GDP) จึงมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมให้ฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม 

ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยผลกระทบที่จะเกิิดขึ้นในเบื้องต้น สศช.จึงเห็นควรเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (เดือน ม.ค.-มี.ค.2564 )..." 

ขณะที่สำนักงบประมาณให้ความเห็นว่าสำนักงบฯได้พิจารณามาตรการต่างๆแล้วเห็นชอบในหลักการมาตรการบรรเทาผลกระทบของประชาชนและผู้ประกอบการธุรกิจในระยะเร่งด่วน (ม.ค. - มี.ค 2564) จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ และเห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามการแพร่ระบาดในระลอกใหม่อย่างใกล้ชิด และพิจารณาเตรียมมาตรการที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่สถานการณ์การแพร่ระบาดมีความรุนแรงมากขึ้นและก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น

สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 หรือโอนงบประมาณรายจ่ายหรือโอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ 2562 หรือพิจารณาใช้จ่ายจากเงินสะสม เงินรายได้ หรือเงินนอกงบประมาณ แล่วแต่กรณี 

ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรการที่ สศช.เสนอให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เห็นสมควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการให้ทุกภาคส่วนเที่เกี่ยวข้องให้ทันต่อสถานการณ์ โดยคำนึงถึงกลุ่มเป้าหมาย อย่างครอบคลุมและเป็นธรรม และตรวจสอบข้อมูลให้มีความชัดเจน ถูกต้อง ครบถ้วน ครอบคลุมในทุกพื้นที่รวมทั้งติดตามประเมินผล และรายงานการดำเนินงานตามมาตรการดังกล่าว เมื่อสิ้นสุดเวลาการดำเนินการและดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน ระเบียบ กฎหมาย และมติครม.อย่างถูกต้องครบถ้วนในทุกมิติด้วย ”