เตือนใช้ไดอาซีแพม ในเคนมผง มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

เตือนใช้ไดอาซีแพม ในเคนมผง มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

สบยช. กรมการแพทย์ เตือนไดอาซีแพม ส่วนผสมในเคนมผง ใช้เกินขนาดอันตรายถึงตาย ผู้ลักลอบจำหน่ายหรือครอบครองหรือใช้ประโยชน์มีโทษทั้งจำทั้งปรับ

นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีพบผู้เสียชีวิตจากการใช้เคนมผงและได้มีการนำสารที่พบส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบวิเคราะห์แยกสาร และพบว่ามีส่วนผสมของคีตามีนและไดอะซีแพม ซึ่งไดอะซีแพม หรือ ไดอาซีแพม (Diazepam) หรือยาที่คนทั่วไปรู้จักในชื่อทางการค้าว่า วาเลียม หรือ แวเลียม(Valium) เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท 4 ตาม พระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท .. 2559 โดยจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง

ในทางการแพทย์ใช้ยานี้เป็นยากล่อมประสาทหรือสงบประสาท (Tranquilizer) ทำให้จิตใจสงบ ใช้สำหรับรักษาอาการผิดปกติทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว แก้อาการชัก ผลข้างเคียงจากการใช้ไดอะซีแพม อาจทำให้มีอาการง่วงซึม เหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง มึนงง เห็นภาพหลอน ซึมเศร้า กล้ามเนื้อกระตุก กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ รวมถึงเกิดอาการชักได้

ทั้งนี้ หากมีการใช้ไดอะซีแพม ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น เช่น มอร์ฝีน เฮโรอีน หรือใช้ร่วมกับการดื่มแอลกอฮอลล์ จะทำให้เสริมฤทธิ์การกดระบบประสาทหายใจลำบาก และอาจเสียชีวิตได้ ไดอะซีแพมจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งใช้ตามความจำเป็น ซึ่งหากมีการลักลอบจำหน่ายต้องระวางโทษจำคุก 2-10 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 1,000,000 และความผิดฐานครอบครองหรือใช้ประโยชน์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี(สบยช.)กล่าวเพิ่มเติมว่า ไดอะซีแพม หากใช้ในขนาดสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดการดื้อยาและติดยาได้ ซึ่งถ้าหยุดใช้ยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว มือสั่น ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจเกิดอาการชักได้ ซึ่งในกรณีของกลุ่มผู้เสียชีวิตจากการเสพเคนมผง จากผลการตรวจสารที่พบทางห้องปฏิบัติการแบบวิเคราะห์แยกสารของสำนักงานป้องกันและปราบปรรามยาเสพติด (...) จากรายงานการตรวจพิสูจน์ 5 ตัวอย่าง พบว่า สารตัวอย่างมีความเข้มข้นของไดอะซีแพม 93-99% ตกแล้วผู้เสพ 1 คน ใช้แวเลียมถึงคนละ 200 มิลลิกรัม หรือ 100 เม็ด นี่จึงอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิต

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11-15 มกราคม 2564 สบยช. พบผู้ป่วยที่เข้ารับการบำบัดรักษาเคตามีนหรือยาเคนมผง จำนวน 71 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยนอกให้การรักษาแบบ ไป - กลับ จำนวน 56 ราย และผู้ป่วยในพักรักษาตัวภายใน สบยช.จำนวน 15 รายโดยได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบวิเคราะห์แยกสาร (LC) จำนวน 24 ราย  พบไดอะซีแพม (Diazepam) เป็นส่วนผสมถึง 23 ราย และยังพบส่วนผสมของยาเสพติดชนิดอื่น คือ ยาบ้า/ยาไอซ์ 11 ราย เคตามีน (Ketamine) 9 ราย กระท่อม 4 ราย กัญชา 2 ราย ยาอี 1 รายเฮโรอีน 1 ราย นอกจากนี้ยังมีส่วนผสมของยาอื่นๆ โดยแบ่งเป็นกลุ่มยาแก้ปวด tramol 3 ราย ยาแก้ปวดอื่น 9 รายยาจิตเวช ยาจิตเวช 7 ราย และยาแก้แพ้ 6 ราย ซึ่งผลสารเสพติดที่ตรวจพบสอดคล้องกับสารเสพติดที่ตำรวจตรวจยึดได้

การใช้ยาและสารเสพติดทุกชนิดส่งผลกระทบต่อร่างกาย ร้ายแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 หรือที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอนขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ww.pmindat.go.th