‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘แข็งค่า’30.07บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘แข็งค่า’30.07บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินอยู่ในภาวะระวังตัว จับตามความเสี่ยง ความวุ่นวายการเมืองสหรัฐฯ ปัญหาโควิด-19 ทั่วโลกกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น ขณะที่เงินบาทในสัปดาห์นี้ ทีแนวโน้มอ่อนค่าตามกระแสฟันด์โฟลว์ไหลออกจากหุ้นและบอนด์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.07 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.10 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์และกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 29.75-30.25 บาทต่อดอลลาร์

ในส่วนเงินบาท เชื่อว่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบต่อเนื่องในระยะสั้น แม้จะมีความคาดหวังว่าดอลลาร์จะอ่อนค่าจากนโยบายการคลังอยู่ แต่นักลงทุนต่างชาติก็ระมัดระวังตัวสูงขึ้นเมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในทวีปเอเชียเกิดขึ้นช้าจึงมีแรงขายสินทรัพย์ทางการเงินในภูมิภาค สัปดาห์นี้มองว่าต้องจับตาไปที่ทิศทางของตลาดทุน เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นของการประกาศผลประกอบการไตรมาสสุดท้ายของปี 2020 ซึ่งน่าจะมีทั้งประเด็นบวกและลบผสมผสานกัน

ในสัปดาห์นี้แนะนำติดตามทิศทางการเมืองสหรัฐและตัวเลขเศรษฐกิจจีน

โดยเช้าวันนี้ จะมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจจีนปี 2020 คาดว่าจีดีพีไตรมาสที่สี่จะฟื้นตัวกลับได้ถึง 6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยได้รับแรงหนุนหลักจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ที่ขยายตัวต่อเนื่อง 6.9% และการค้าปลีก (Retail Sales) ที่ฟื้นตัว 5.5% เป็น sentiment เชิงบวกกับตลาด

ส่วนของนโยบายการเงิน จะมีการประชุมของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และญี่ปุ่น (BOJ) ในช่วงท้ายสัปดาห์ มองว่า ECB จะให้ความเห็นเรื่องเงินยูโรที่แข็งค่าช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ BOJ จะให้ความสำคัญกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบจากการล็อกดาวน์ จึงเชื่อว่าทั้งสองธนาคารกลางจะเลือก “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับเดิมทั้งหมด

ส่วนเงินดอลลาร์ ระยะสั้นต้องติดตามการเข้ารับตำแหน่งของนายโจ ไบเดนในวันพุธว่าจะมีมุมมองเชิงบวกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นหรือไม่ โดยเราคาดว่าสกุลเงินของประเทศที่ทำให้ตลาดเชื่อได้ว่าสามารถประคองเศรษฐกิจสำเร็จ จะมีความแข็งแกร่งมากกว่าสกุลเงินอื่น ๆ เพราะการควบคุมการระบาดของไวรัสล่าสุดทำให้ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่ชัดเจน เป็นเหตุผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศเกิดใหม่

กรอบดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) สัปดาห์นี้ 90.0-91.0 จุด ระดับปัจจุบัน 90.75จุด

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 30.00-30.15 บาทต่อ ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 29.85-30.20 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ตลาดการเงินจะยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่รีบเพิ่มความเสี่ยง จากปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามมอง อาทิ ความวุ่นวายของการเมืองสหรัฐฯ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลกที่ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น

โดย ในฝั่งสหรัฐฯ ตลาดมองว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอลงจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) อาจสูงถึง 9แสนราย ขณะเดียวกันดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการโดย Markit (Mfg. & Services PMIs) เดือนมกราคมจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 56จุด และ 53จุด ตามลำดับ ชี้ว่ากิจกรรมในภาคการผลิตและบริการชะลอตัวลง นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดจะจับตาการเมืองสหรัฐฯ โดยเฉพาะการผลักดันนโยบายช่วง 100วันแรกในการทำงานของว่าที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยตลาดพร้อมเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หากมีการเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ถัดมาในฝั่งยุโรป ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการโดย Markit เดือนมกราคมจะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าสู่ระดับ 54จุด และ 44จุดตามลำดับ ทั้งนี้ความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ โดยตลาดมองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ -0.50% และคงมาตรการซื้อสินทรัพย์เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาการประชุมรัฐมนตรีคลังยุโรปเพื่อหารือถึงแผนการใช้เงินกองทุน EU recovery fund ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นการเติบโตเศรษฐกิจหลังวิกฤติ COVID-19

ฟากเอเชีย เศรษฐกิจจีนในเดือนธันวาคมมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง หนุนโดยยอดผลผลิตอุตสาหกรรม(Industrial Production) ที่โตได้ 6.9%จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนยอดค้าปลีก (Retail Sales) ก็เพิ่มขึ้น 5.5% เช่นเดียวกับยอดการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Investment) ก็ขยายตัวราว 3% ภาพดังกล่าวส่งผลให้ เศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 4 จะโตถึง 6%จากปีก่อนหน้า ทำให้ทั้งปี 2020 เศรษฐกิจจีนจะสามารถโตได้ราว 2%  ส่วนในฝั่งญี่ปุ่นแม้การฟื้นตัวเศรษฐกิจยังคงเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะคงดอกเบี้ย(Policy Balance Rate) ไว้ที่ -0.10% ไปพร้อมกับควบคุมทิศทางตลาดบอนด์ ด้วยการคงเป้าบอนด์ยีลด์10ปี ไว้ที่ 0.0% และอัดฉีดสภาพคล่องด้วยการทำคิวอีต่อเนื่อง

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดมองว่ายอดส่งออกสินค้า (Exports) ในเดือนธันวาคมจะหดตัว 2%จากปีก่อนหน้า กดดันโดยปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก แม้ว่าความต้องการสินค้าจะกลับมาตามภาพการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกก็ตาม

ในระยะสั้น เราคาดว่า เงินดอลลาร์ยังคงได้รับแรงหนุนจากความกังวลของตลาด ทั้งประเด็นปัญหาการระบาดของCOVID-19 ที่กดดันทั้งการฟื้นตัวเศรษฐกิจและผลประกอบการ รวมถึงความวุ่นวายการเมืองสหรัฐฯ ส่วนในฝั่งเงินบาทอาจผันผวนตามฟันด์โฟลว์ที่เริ่มไหลออกสุทธิจากตลาดหุ้นและตลาดบอนด์ ทั้งนี้ หากเงินบาทอ่อนค่าลง เราเชื่อว่า เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เพราะผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์ หากเงินบาทอ่อนค่าใกล้ 30.20 บาทต่อดอลลาร์