'เอ็ตด้า' คลอดมาตรฐาน ประชุมออนไลน์ หรือ 'อี-มีทติ้ง' 

'เอ็ตด้า' คลอดมาตรฐาน ประชุมออนไลน์ หรือ 'อี-มีทติ้ง' 

เปิด 7 ข้อกำหนดใช้อี-มีทติ้ง รองรับเวิร์ค ฟอร์ม โฮม ภายใต้ พ.ร.ก.การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เตือนหน่วยงานรัฐหาก ประชุมลับต้องมีมาตรการควบคุมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลผู้เข้าประชุม และต้องใช้ระบบควบคุมการประชุมที่ติดตั้งและให้บริการในประเทศเท่านั้น

เอ็ตด้าเปิด 7 ข้อกำหนดใช้อี-มีทติ้งรองรับเวิร์ค ฟอร์ม โฮม ภายใต้ พ.ร.ก. การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เตือนหน่วยงานรัฐหากมีการประชุมลับต้องมี มาตรการควบคุมสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของผู้เข้าประชุม และต้องใช้ระบบควบคุมการประชุมที่ติดตั้งและให้บริการในประเทศเท่านั้น ชวนตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับการรับรองทางทุกช่องทางของเอ็ตด้า

นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (คธอ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้หลายหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ต่างมีมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (เวิร์ก ฟอร์ม โฮม) ตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมพร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการประชุมที่เป็นขั้นตอนทำงานสำคัญ เป็น การประชุมออนไลน์ (อี-มีทติ้ง) ดังนั้น เพื่อดูแลให้การประชุมออนไลน์มีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงของภัยคุกคามต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ การประชุมออนไลน์จึงควรดำเนินการให้สอดคล้องตามมาตรฐานขั้นต่ำที่เกี่ยวข้อง  

ดังนั้น สำนักงานพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์ (เอ็ตด้า) ได้มีประกาศ เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ที่ออกตาม พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 กำหนดมาตรฐานสำหรับการประชุมออนไลน์ที่อย่างน้อยต้องประกอบด้วย 7 กระบวนการสำคัญ ดังนี้ 

1. ก่อนร่วมประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมจะต้องแสดงตัวตนตามวิธีที่ผู้จัดประชุมกำหนด เช่น การแสดงตนด้วย Username และ Password หรืออาจให้ผู้ร่วมประชุมรายอื่น รับรองการแสดงตัวตนก็ได้ 

2. การประชุมต้องสื่อสารกันได้ด้วยเสียง หรือทั้งเสียงและภาพ โดยมีช่องสัญญาณเพียงพอ มีช่องทางสำรองหากเกิดเหตุขัดข้อง และรองรับการจัดการสิทธิผู้ร่วมประชุมได้

3. ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถเข้าถึงเอกสารประกอบการประชุมได้ ทั้งแบบกระดาษหรืออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้จัดประชุมแจ้งวิธีการเข้าถึงเอกสารหรือข้อมูลให้ผู้เข้าร่วมประชุมทราบ 

4. รองรับการออกเสียงลงคะแนน โดยหากเป็นการลงคะแนนทั่วไป เปิดเผยได้ ต้องสามารถระบุตัวตนและเจตนาของผู้ออกเสียงลงคะแนนได้ แต่หากเป็นการออกเสียงลงคะแนนแบบลับไม่เปิดเผย ให้ทราบได้เฉพาะจำนวนของผู้ลงคะแนนและผลรวมของคะแนน โดยไม่ระบุตัวตนของผู้ลงคะแนน 

5. มีการจัดเก็บข้อมูลหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการประชุม เช่น วิธีการแสดงตน จำนวนหรือรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม วิธีการลงคะแนนและผลรวมคะแนน เหตุขัดข้องที่เกิดขึ้น ไฟล์บันทึกเสียง หรือทั้งเสียงและภาพการประชุม เว้นแต่ประชุมลับต้องไม่บันทึกเสียง หรือเสียงและภาพระหว่างการประชุมลับ 

6. มีการเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กอิเล็กทรอนิกส์หรือประวัติการใช้งานระบบอี-มีทติ้งอย่างน้อยต้องระบุตัวตนผู้ใช้งาน วันและเวลาของการประชุม โดยอิงเวลามาตรฐาน 

7. มีช่องทางรองรับการแจ้งเหตุขัดข้องระหว่างการประชุม เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาระหว่างการประชุมให้กับผู้เข้าร่วมประชุม