“พัทลุง” จังหวัดที่ 61 พบผู้ติดเชื้อใหม่ 3 ราย

“พัทลุง” จังหวัดที่ 61 พบผู้ติดเชื้อใหม่ 3 ราย

ศบค. รายงานสถานการณ์โควิด-19 พบผู้ป่วยรายใหม่ 374 ราย ด้าน กทม. พบผู้ป่วยใหม่อายุน้อย 1 ปี ขณะที่ พัทลุง จังหวัดที่ 61 ที่มีผู้ติดเชื้อ จากค้นหาเชิงรุกแรงงานต่างด้าว พบติดเชื้อ 3 ราย

วันนี้ (17 ม.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2564  เวลา 11.30 น. พบผู้ป่วยรายใหม่ 374 ราย ได้แก่ ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 43 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 321 ราย และผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้า State Quarantine จำนวน 10 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 12,054 ราย หายป่วยแล้ว 9,015 ราย กำลังรักษาอยู่ 2,969 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม เสียชีวิตสะสม 70 ราย มีผู้ป่วยหนักราว 10 กว่าราย ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ

ขณะที่ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 63 – 17 ม.ค. 64 พบผู้ป่วยสะสม 7,817 ราย หายป่วยแล้ว 5,075 ราย รักษาตัวอยู่ 2,732 ราย

“จากการค้นหาเชิงรุก ในการระบาดระลอกใหม่ที่ผ่านมา พบการระบาดใน จ.ระยอง ชลบุรี กรุงเทพฯ และ สมุทรสาคร ส่วนใหญ่อายุยังน้อย การระบาดครั้งนี้ไม่ได้ใช้ยาแรงเหมือนเดิม ไม่มีการล็อคดาวน์ แต่สิ่งที่ต้องการร้องขอ คือ ขอความร่วมมือประชาชน และทางภาครัฐจะเข้าไปตรวจเชิงรุกในโรงงานตรวจเพิ่มเติม”

โฆษก ศบค. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการติดเชื้อในประเทศ 367 ราย ซึ่งแบ่งเป็น จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 43 ราย ได้แก่ “กทม. 10 ราย” เป็นเพศชายอายุ 1 – 78 ปี จำนวน 5 ราย และเพศหญิง 38 – 82 ปี จำนวน 5 ราย มีอาการ 6 ราย และไม่มีอาการ 4 ราย “ขอนแก่น 2 ราย” เป็นเพศหญิงอายุ 17 ปี อาชีพนักเรียน และ อายุ 37 ปี อาชีพค้าขาย “ตาก 1 ราย” ชาย อายุ 33 ปี อาชีพล่าม “นนทบุรี 2 ราย” เพศชาย อายุ 75 ปี อาชีพ เกษียณอายุราชการ และ หญิงอายุ 36 ปี อาชีพ พี่เลี้ยงเด็ก

“พระนครศรีอยุทธยา 1 ราย” เพศชาย อายุ 53 ปี อาชีพข้าราชการ “สมุทรสาคร 24 ราย” เป็นชาย 11 รายอายุระหว่าง 16 – 73 ปี เพศหญิง 13 ราย อายุ 21 – 53 ปี สัญชาติไทย 13 ราย สัญชาติเมียนมา 11 ราย “สุพรรณบุรี 1 ราย” เพศชาย 25 ปี อาชีพเลี้ยงไก่ชน “อ่างทอง 2 ราย” เพศชาย อายุ 33 ปี อาชีพ ค้าขาย และเพศหญิง 42 ปี อาชีพค้าขาย

ผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุก 321 ราย ได้แก่ “ชลบุรี 1 ราย” เพศหญิง 33 ปี สัญชาติไทย “ตรัง 2 ราย” สัญชาติเมียนมา เพศชาย อายุ 33 ปี อาชีพรับจ้าง  “ปราจีนบุรี 1 ราย” สัญชาติไทย เพศชาย 13 ปีอาชีพนักเรียน “พัทลุง 3 ราย” สัญชาติเมียนมา 2 ราย ลาว 1 ราย เพศชาย 41 ปี และเพศหญิง อายุ 27 และ 40 ปี “ระยอง 2 ราย” สัญชาติไทย เพศชาย 71 ปี และ เพศหญิง 51 ปี “สมุทรปราการ 1 ราย” สัญชาติออสเตรเลีย เพศชาย อายุ 59 ปี และ “สมุทรสาคร 311 ราย” สัญชาติไทย 118 ราย คนต่างด้าว 193 ราย

สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากต่างประเทศ 10 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 2 ราย เยอรมนี 1 ราย อินเดีย 2 ราย ราชอาณาจักรเดนมาร์ก 1 ราย กาตาร์ 1 ราย และมาเลเซีย 3 ราย

“จ.ตรัง ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 2 ราย อาชีพรับแปรรูปยางพารา ซึ่งเป็นชาวเมียนมา จากการค้นหาเชิงรุก ไทม์ไลน์ต่างๆ ที่จะต้องเกิดขึ้นหลังจากการพบเคส จะมาสู่ตรวจสอบ หาหนทาง มาตรการ ไม่ใช่เพียงแค่กระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว ฝ่ายมั่นคงต้องไปดูที่ต้นทาง ว่าแรงงานที่พบถูกกฎหมายหรือไม่อย่างไร”  

เช่นเดียวกับ จ.พัทลุง เป็นจังหวัดใหม่ในวันนี้ จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน ซึ่งชาวลาว ทำงานในร้านคาราโอเกะ ขณะนี้เข้าสู่การรักษา คำถามที่เกิดขึ้น คือ ติดเชื้อมาได้อย่างไร ต้องมีไทม์ไลน์เพื่อการป้องกัน แผนที่ประเทศไทยในวันนี้ จึงต้องเพิ่มพัทลุงมาอีกหนึ่งจังหวัด รวมจังหวัดที่พบผู้ป่วยทั้งหมด 61 จังหวัด

ดังนั้น ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 63 – 17 ม.ค. 64 “กลุ่มสีแดง” จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 50 ราย จำนวน 10 จังหวัด กลุ่มสีส้ม จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสม 11 – 50 ราย จำนวน 14 จังหวัด สีเหลือง จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสะสม 1 – 10 ราย จำนวน 37 จังหวัด และ สีขาว จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อมาก่อน เหลือ 16 จังหวัด

“ขณะที่ สถานการณ์ในประเทศ ช่วงแรก ยอดกราฟผู้ป่วยใหม่ยังไม่ถึง 250 ราย แต่ละรอกนี้ พุ่งไปสูงสุดกว่า 750 กว่าราย เราต้องพยายามช่วยกัน อย่างไรก็ตาม การที่ติดเชื้อไม่ต้องการกดลงเป็นศูนย์ ยังมีกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนเดิม แต่แปลงให้เป็นนิวนอร์มอล ต่อไปตัวเลขจะยังมีติดเชื้ออยู่บ้าง เช่นเดียวกับ ไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก วัณโรค ซึ่งแต่ละโรคสามรรถทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน ซึ่งทุกวันนี้ก็มีคนเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว อยู่เรื่อยๆ เพียงแค่ไม่ให้เกินสรรพกำลังที่มีอยู่” โฆษก ศบค. กล่าว  

สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2564 เวลา 10.00 น. ยอดผู้ติดเชื้อรวม 94,950,848 ราย อาการรุนแรง 111,614 ราย รักษาหายแล้ว 67,773,937 ราย เสียชีวิต 2,030,920 ราย อันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 24,306,043 ราย 2. อินเดีย จำนวน 10,558,710 ราย 3. บราซิล จำนวน 8,456,705 ราย 4. รัสเซีย จำนวน 3,544,623 ราย 5. สหราชอาณาจักร จำนวน 3,357,361 ราย ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 127 จำนวน 12,054 ราย