ศบค. ย้ำต่างด้าว 3 สัญชาติ ไม่มีใบอนุญาต ขึ้นทะเบียนได้ถึง 13 ก.พ. 64

ศบค. ย้ำต่างด้าว 3 สัญชาติ ไม่มีใบอนุญาต ขึ้นทะเบียนได้ถึง 13 ก.พ. 64

โฆษก ศบค. ย้ำ แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา กัมพูชา ลาว ที่ไม่มีใบอนุญาต ซึ่งประมาณการณ์ว่ามีอยู่ราว 5 แสนคน ทั้งมีนายจ้างและไม่มี ให้ขึ้นทะเบียนวันนี้ - 13 ก.พ. 64 พร้อมขอความร่วมมือ งดนำแรงงานลักลอบเข้ามาเพิ่ม

วันนี้ (17 ม.ค. 64) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวถึงกรณีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้ง 3 สัญชาติ เมียนมา กัมพูชา ลาว ประมาณการณ์ว่าเข้ามาอย่างถูกกฏหมายราว 2.5 ล้านคน ส่วนที่เข้ามาและยังไม่มีการขออนุญาต ราว 5 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้ ทั้งมีนายจ้างและไม่มีนายจ้าง

“ในกรณีของแรงงานที่เข้ามาถูกกฏหมาย 2.5 ล้านคน ถือว่ามีนายจ้างและระบบดูแลการเจ็บไข้ได้ป่วยของเขาได้ดี แต่ในกรณี 5 แสน ที่ไม่มีใบอนุญาต ไม่มีนายจ้างอาจจะเข้าไม่ถึงการดูแลเพียงพอ เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 63 ที่่ผ่านมา มติ ครม. ประกาศผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ขอให้ขึ้นทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ภายในวันที่ 15 ม.ค. -13 ก.พ. 64”  

"ผู้ที่เป็นนายจ้างของแรงงาน กรุณาไปลงทะเบียนระบบออนไลน์ของทางกระทรวงแรงงาน เพื่อเอาเขาเข้าระบบและอนุญาตให้อยู่ต่อ ไม่ต้องหนี ให้อยู่ต่อในไทย และไม่ต้องเอาเข้ามาเพิ่มอีก โดยเฉพาะธุรกิจสีดำ สีเทา ล้วนแล้วแต่นำพาการระบาดเข้ามาในประเทศ ทำให้ประเทศเสียหาย" โฆษก ศบค. กล่าว 

ทั้งนี้ การลงทะเบียนผ่านระบบลงทะเบียนออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th มีทั้งสิ้น 4 ภาษา ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาวและไทย ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

  • ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว

กรณีคนต่างด้าวมีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1.แจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว – ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารใบแจ้งชำระเงินค่าใบอนุญาตทำงาน ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564

2.ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม กิจการทั่วไป 7,200 บาท และกิจการประมงทะเล 7,300 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

3.ยื่นคำขออนุญาตทำงาน – ให้นายจ้างชำระค่าคำขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7 -11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปจัดทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 16 มิถุนายน 2564

4.จัดทำทะเบียนประวัติ – ให้นายจ้างพาคนต่างด้าวไปทำทะเบียนประวัติ (ทร. 38/1) และบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง โดยนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปยื่นเป็นหลักฐาน ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พ.ย. 64 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรชมพู 60 บาท

กรณีคนต่างด้าวยังไม่มีนายจ้าง รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่มีอายุไม่เกิน 18 ปี มีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้

1. คนต่างด้าวแจ้งข้อมูลบุคคล ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th – ให้คนต่างด้าวแนบรูปถ่าย และพิมพ์หลักฐานการรับแจ้งข้อมูลบุคคลจากระบบออนไลน์ ซึ่งให้บริการ 4 ภาษา คือ ไทย กัมพูชา ลาว เมียนมา ระหว่างวันที่ 15 มกราคม ถึงวันที่ 13 ก.พ.64

2. ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ – คนต่างด้าวใช้แบบแจ้งข้อมูลบุคคล เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองโควิด – 19 และตรวจโรคต้องห้าม 6 โรค ตามวิธีการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และซื้อประกันสุขภาพเป็นระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายรวม 7,200 บาท โดยต้องดำเนินการภายในวันที่ 16 เม.ย. 64

3.จัดทำทะเบียนประวัติ – คนต่างด้าวที่ผ่านการตรวจโรค จะต้องไปทำทะเบียนประวัติคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ทร. 38/1) ณ สถานที่ ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานครกำหนด ภายในวันที่ 16 มิ.ย.64 สำหรับค่าใช้จ่ายทำทะเบียนประวัติ 20 บาท และค่าบัตรสีชมพู 60 บาท (ในขั้นตอนนี้คนต่างด้าวยังไม่ได้รับบัตรสีชมพู)

4.คนต่างด้าวหานายจ้างและยื่นคำขออนุญาตทำงาน – ให้นายจ้างแจ้งบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว ผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบรูปถ่ายคนต่างด้าว พิมพ์เอกสารจากในระบบออนไลน์ เพื่อไปชำระค่าคำขอรับใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,900 บาท ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11 หรือ ธนาคารกรุงไทย และยื่นคำขอรับใบอนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวผ่านระบบออนไลน์ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th โดยแนบใบรับรองแพทย์และหลักฐานการชำระเงิน และพิมพ์ใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 13 ก.ย.64

5.ปรับปรุงทะเบียนประวัติ – คนต่างด้าวนำใบรับคำขออนุญาตทำงานไปปรับปรุงทะเบียนประวัติ และรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ณ สถานที่ที่กรมการปกครอง หรือกรุงเทพมหานคร กำหนด ภายในวันที่ 12 พ.ย. 64

สำหรับคนต่างด้าวที่ทำงานกิจการประมงทะเล ต้องไปทำหนังสือคนประจำเรือ หรือ Sea book ณ กรมประมง เป็นขั้นตอนสุดท้าย โดยมีค่าธรรมเนียม 100 บาท และเมื่อกรมประมงพิจารณาเรียบร้อยแล้วจะได้รับหนังสือคนประจำเรือ เป็นหลักฐานใช้คู่กับบัตรสีชมพูในการอยู่และทำงานในประเทศ

ทั้งนี้ นายจ้าง/สถานประกอบการ และคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ