"หมอชนะ" เด้งแจ้งเตือนรัว ยันข้อมูลส่วนตัวไม่รั่วไหล

"หมอชนะ"  เด้งแจ้งเตือนรัว ยันข้อมูลส่วนตัวไม่รั่วไหล

ทีมงานอาสา หมอชนะ ยืนยัน เมื่อผ่านวิกฤตการณ์โควิด-19 แล้ว ข้อมูลทั้งหมดจะถูกทำลายทิ้งทันที อีกทั้งการโค้ดแอปยังมีลักษณะเป็น ‘โอเพ่นซอร์ส (Open Source)’ เพื่อให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ และง่ายต่อการส่งต่อไปยังระบบอื่นๆ เพื่อขยายผลต่อไป

จากกรณี เพจเรารักแปดริ้ว ได้โพสต์ภาพ ข้อความการแจ้งเตือนจากแอป หมอชนะ เข้ามายังมือถือของประชาชนหลายคน โดยระบุข้อความว่า "ท่านมีความเสี่ยงจากการไปสถานที่เดียวกันกับผู้ติดเชื้อโควิด เมื่อ 5-8 ม.ค.2564 ให้สังเกตอาการ 14 วันที่บ้าน หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่นลิ้นไม่รับรส สวมหน้ากาก และไปพบแพทย์ สอบถาม โทร 1422" 

ทีมงานอาสา หมอชนะ ได้ออกมาชี้แจงว่า แอปหมอชนะ ที่เดิมถูกดูแลจากกลุ่มอาสาสมัคร ร่วมกับ หน่วยงานราชการ มาตลอดหลายเดือน ล่าสุด หลังจากวันนี้เป็นต้นไป จะถูกส่งต่อไปควบคุมดูแลโดยรัฐบาลเต็ม 100%

อีกทั้งทางทีมงานยังยืนยันว่า การส่งต่อให้รัฐบาลนี้เราคำนึงถึงสิทธิส่วนบุคคลเป็นสำคัญเช่นเดิม ดังนั้น ข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนอย่างเช่น เบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลทั้งหมด  จะถูกลบทิ้งออกจากฐานข้อมูล 

ทั้งนี้ แอพฯ “หมอชนะ” คือระบบเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบและประเมินระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานที่ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง อีกทั้งยังสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงในการติดเชื้อของประชาชนที่เข้ารับการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เสริมมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ให้มีประสิทธิภาพและวัดผลได้

“หมอชนะ” ได้รับการออกแบบให้ใช้งานง่าย และมุ่งประสิทธิผลในการคัดกรองความเสี่ยง โดยไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้น การลงทะเบียนใช้แอพฯ จึงเป็นแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) ยิ่งกว่านั้น คณะรวมอาสาสมัครยังได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูล ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562

  • วิธีใช้งานแอพฯ หมอชนะ

รูปแบบการใช้งาน "หมอชนะ" แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ให้ผู้ใช้รายงานความเสี่ยงของตัวเอง และแจ้งเตือนผู้ใช้หากเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยง ที่มีผู้ติด COVID-19 โดยวิธีใช้งาน เริ่มจาก.. ให้ประชาชนดาวน์โหลดแอพ "หมอชนะ" บนสมาร์ทโฟน แล้วเข้าไปตอบคำถามประเมินอาการของตัวเองในแอพฯ โดยจะแบ่งระดับของความเสี่ยงเป็น 4 ระดับคือ

- สีเขียว : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ซึ่งเป็นคนที่ไม่มีอาการ ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

- สีเหลือง : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงน้อย ซึ่งอาจจะมีอาการไข้หวัด แต่ไม่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา

- สีส้ม : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยง เพราะเป็นคนที่มีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา แต่ไม่แสดงอาการ หรือมีอาการไม่เด่นชัด คนในกลุ่มนี้ต้องกักตัวอยู่กับบ้านจนครบ 14 วัน พร้อมทั้งเฝ้าระวัง ถ้ามีอาการควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

- สีแดง : สำหรับบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะทั้งมีอาการ และมีประวัติไปต่างประเทศ หรือใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยงในช่วง 14 วันที่ผ่านมา จะต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที

มื่อตอบคำถามครบถ้วนแล้ว แอพฯ จะรายงานพิกัดของผู้ใช้งานเข้าไปในระบบ แต่ผู้ใช้จะไม่สามารถดูได้ว่าผู้ใช้คนอื่นอยู่ตรงไหนบ้าง ทำได้แค่เพียงอนุญาตให้แอพแจ้งเตือนผ่าน notification หากเราเข้าไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ซึ่งจะเช็คข้อมูลด้วย GPS และ Bluetooth ของตัวโทรศัพท์มือถือ

เมื่อมีฐานข้อมูลเพียงพอ ค่าสีในพื้นที่ต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง "อัพเดตแบบเรียลไทม์" ตามข้อมูลการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ ทำให้ทุกครั้งที่มีการพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และระบบพบว่าผู้ใช้งานมีประวัติการเดินทางเข้าใกล้ผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้นในช่วงที่ผ่านมา แอพฯ ก็จะแจ้งเตือนผู้ใช้งาน ให้รับรู้ถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนไปด้วยค่าสีใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่ความระมัดระวังและการปรับพฤติกรรมของผู้ใช้ได้อย่างดีขึ้น