'โควิด' ใกล้ตัว จุดเสี่ยงมนุษย์เงินเดือน

'โควิด' ใกล้ตัว จุดเสี่ยงมนุษย์เงินเดือน

เช็คมาตรการป้องกันโควิด-19 ภายในสถานประกอบการ จากสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

จากกรณีที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ตั้งแต่วันที่ 15 ..เป็นต้นมาขณะนี้ผ่านมาแล้วกว่า 1 เดือน สะสมผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่าหมื่นราย

ถึงแม้มาตรการ "กฎเหล็ก" แต่ละจังหวัดที่ประกาศออกมาในแต่ละระดับ จะเป็นเครื่องมือสำคัญเชิงรุกเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัดมากที่สุด แต่จากการเดินทางของคนในสังคมที่ยังดำเนินอยู่ ทำให้ยังมีข้อจำกัดในการตัดวงจรการระบาดของโควิดในระลอกนี้

โดยเฉพาะประเด็นที่ นพ.โสภณเป็นห่วงสถานการณ์การติดเชื้อในสถานที่ทำงานเป็นสิ่งที่จะต้องเฝ้าระวังมากยิ่งขึ้น เพราะเริ่มพบพนักงานในสถานประกอบการหรือสถานที่ทำงานประเภทต่างๆ ติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ เป็นที่มาของการ "ขอความร่วมมือ" ทุกสถานที่ทำงานยกระดับความเข้มข้นในการ "คัดกรอง" พนักงานทุกคน ที่สำคัญต้องคัดกรอง-สอบประวัติพนักงานกลุ่มเสี่ยงที่เดินทางมาจากจุดแพร่ระบาด และสังเกตอาการหากพบพนักงานคนใดเจ็บป่วยต้องรีบแยกออกจากกลุ่มอื่นทันที

ก่อนหน้านี้ "ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน" กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เคยออกมาตรการสำหรับดูแลพนักงานทุกคนที่ไม่ได้ปรับการทำงาน "work from home" เพื่อยกระดับ "เซฟตี้" ไปถึงมนุษย์เงินเดือน ตั้งแต่การ "ลดกิจกรรมเสี่ยง" ต่อการแพร่และติดเชื้อในสถานที่ทำงาน อาทิ ไม่รับประทานอาหารร่วมกัน กินร้อน ช้อนใครช้อนมัน ล้างมือ หรือสวมหน้ากากอนามัยแล้ว สิ่งสำคัญผู้ประกอบการต้อง "จัดหา" สบู่ เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ หรือจัดสถานที่สำหรับล้างมือ และหน้ากากอนามัย

ส่วนภายในสถานที่ทำงาน บริเวณประตูทางเข้าห้องทำงาน ประตูทางเข้าไลน์การผลิต ส่วนห้องสุขาเพิ่มความถี่ให้พนักงานทำความสะอาดได้ทำความสะอาดในแต่ละจุดที่มีการสัมผัสร่วมกัน ตั้งแต่มือจับประตู ลิฟต์ ราวบันได ด้วยน้ำยาผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด หรือน้ำยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่า 70 % โดยเข้มงวดให้พนักงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติงานรวมถึงดูแลทำความ สะอาดโต๊ะทำงาน คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สำนักงานเป็นประจำ

โดยเฉพาะสถานประกอบการต้องเตรียม "ห้องพยาบาล" เพื่อแยกผู้ป่วยที่แสดงอาการเป็นกลุ่มเสี่ยง ออกจากสถานที่ทำงานหรือไลน์การผลิตที่มีคนรวมกันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการส่งกลับไปรักษาตัวที่บ้านหรือโรงพยาบาล ไม่ใช่แค่นั้น แต่การเก็บขยะติดเชื้อภายในสำนักงานแต่ละแห่ง ภายหลังการใช้ทิชชู่ อาจปนเปื้อนสารคัดหลั่งของผู้ใช้งาน โดยก่อนทิ้งขยะพนักงานทำความสะอาดต้องปิดถุงให้มิดชิด หรือทิ้งในถังขยะติดเชื้อ และล้างมือทำความสะอาดเพื่อป้องกันการตกค้างของเชื้อโรค

สำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานทำงานหนาแน่น อาทิ โรงงานที่มีไลน์การผลิต ควรจัดให้มีการตรวจ "คัดกรอง" พนักงานทุกคนก่อนเข้าทำงานทุกวัน แต่หากพบพนักงานคนใดป่วย ต้องพิจารณาให้หยุดรักษาตัวที่บ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดต่อคนส่วนใหญ่หรือกรณีสถานประกอบการที่มีรถรับ-ส่งพนักงาน ให้ทำความสะอาดยานพาหนะบริเวณที่สัมผัสกับ ผู้โดยสาร เช่น ราวจับ กลอนประตูเบาะที่นั่ง ที่เท้าแขน ด้วยน้ำยาผงซักฟอก น้ำยาทำความสะอาด หรือน้ำยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์มากกว่า 70 % เพื่อทำลายเชื้อไวรัส

ที่สำคัญควรพิจารณา "ปิด" สถานประกอบการชั่วคราว หากพบผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก อาทิ การเลื่อนหรือยกเลิกไลน์การผลิตที่พบผู้ป่วยออกไปชั่วคราว เพื่อให้พนักงานหยุดพักรักษาตัวและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค

ขณะที่ความรับผิดชอบต่อส่วนรวมต่อพนักงาน ขอให้ทุกคนเคร่งครัดดูแลตัวเอง โดยเตรียมหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เพื่อใช้สำหรับตนเอง แต่หากพบว่าตนเองมีอาการป่วย ควรหยุดพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือหากสังเกตพบเพื่อนร่วมงานมีอาการไอ จามผิดปกติ ขอให้แจ้งห้องพยาบาลจัดหาหน้ากากอนามัยมาให้พนักงาน

ทั้งหมดเป็นมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดภายในสถานประกอบการ ในสถานที่ที่รวมตัวของคนจำนวนมาก ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จากสถานการณ์ที่ยังต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด.