เปิดแผน 3 ธุรกิจพลังงาน นำเทรนด์ลดปล่อยคาร์บอน

เปิดแผน 3 ธุรกิจพลังงาน นำเทรนด์ลดปล่อยคาร์บอน

การกำหนดแผนลงทุนธุรกิจพลังงานของไทย ทั้งหน่วยงายรัฐ และเอกชน ในระยะกลาง และระยะยาว กำลังมุ่งสู่เทรนด์โลกที่ให้ความสำคัญกับการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น ศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions เพื่อสร้างความยั่งยืนทางธุรกิจควบคู่การดูแลสิ่งแวดล้อม

การประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น ศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น สหรัฐและยุโรป กำหนดไว้ปี 2050 (ปี 2593) และจีนกำหนดในปี 2060 ประกอบกับอาเซียนกำหนดเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 35% ในปี 2573

ปัจจัยเหล่านี้มีอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยที่จะเริ่มในปี 2565 หลังจากทำ “แผนบูรณาการพลังงานระยะยาว” หรือ Thailand Integrated Energy Blueprint (TEIB) หรือ แผนพลังงานแห่งชาติ แล้วเสร็จในปี 2564 จะชี้ทิศทางการลงทุนด้านพลังงานไทยในอนาคตที่จะสอดรับกับทิศทางพลังงานโลก ที่มุ่งสู่ใช้พลังงานสะอาด ควบคู่ส่งเสริมเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุน หนุนศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศ

กุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า แผนพลังงานแห่งชาติ กำหนดเป้าหมายระยะสั้น 5 ปี (2565-2570) ระยะปานกลาง 5-10 ปี และยาว 20 ปี โดยเน้นส่งเสริมพลังงานสะอาด เช่น ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะเห็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เพราะอนาคตกำลังการผลิตก๊าซจากอ่าวไทยจะลดลง หลังแหล่งก๊าซขนาดใหญ่เอราวัณและบงกช ใช้งานมากว่า 30 ปี รวมถึงเพิ่มสัดส่วนผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (RE) ส่งเสริมเทคโนโลยีผลิตกระแสไฟฟ้ารูปแบใหม่ ทั้งโครงข่ายสมาร์ทกริด แพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้า

“ปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยสูง 40-50% จากระดับที่เหมาะสม 15-17% ต้องดูว่าถึงเวลาที่ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เข้ามา โครงการรถไฟฟ้า 13 สายสร้างเสร็จ และเทคโนโลยี 5G เกิด ถึงเวลานั้นสำรองไฟฟ้าที่ว่าสูงจะพอไหมก็ต้องวางแผนรองรับให้ชัด และโครงสร้างค่าไฟฟ้า ก็ควรแยกเรื่องของอีวี ออกจากภาคอุตสาหกรรมด้วย”

รวมทั้งแผนพลังงานแห่งชาติจะไม่เพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน (โรงใหม่) และอาจปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าที่ประสิทธิภาพต่ำทั้งเชื้อเพลิงก๊าซและถ่านหินออกจากระบบเร็วขึ้น เพื่อแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้าล้นระบบในระยะสั้น ลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ

161076290335

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลุ่มบางจากฯ ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ในปี 2573 โดยปี 2564 ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่มีเป้าหมายเพิ่มรายได้ธุรกิจสีเขียวเป็นสัดส่วน 40–50% ในปี 2567 ภายใต้งบลงทุน 2.3 หมื่นล้านบาท ที่ให้น้ำหนักขยายการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 75% เนื่องจากรายได้ธุรกิจไฟฟ้ามีเสถียรภาพ

อีกทั้งมีแผนขยายธุรกิจผ่านนวัตกรรมพลังงานสีเขียว เช่น การบริหารจัดการจักรยานยนต์ สามล้อไฟฟ้า การแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery swapping) โดยจะขยาย Winnonie สตาร์ทอัพให้เช่ามอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าของกลุ่มบางจากเป็น 10,000 คัน ในปี 2566 และร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขยายจุดชาร์จรถอีวีในปั๊มบางจากไม่น้อยกว่า 150 แห่งทั่วประเทศในปี 2564

“ระยะยาวจะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนต่อยอดความยั่งยืน ด้วยการสร้างสมดุลดีมานด์และซัพพลาย ผ่านกลไกซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเป็นการนำเงินจากภาคเอกชนมาสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน แทนการที่ภาครัฐต้องควักงบประมาณมาสนับสนุนเหมือนอดีต”

ฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ระบุว่า บี.กริม มองเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ อย่างแน่นอน โดยเตรียมจัดทำแผนลงทุน 10 ปี เน้นธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศที่เป็นพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่ธุรกิจต่อเนื่องรองรับดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นมากขึ้น รวมถึงธุรกิจนำเข้า LNG พัฒนาโครงข่ายสายส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนทางธุรกิจให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทำเรื่องใหม่ๆมากขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนทางธุรกิจ

“ระยะยาวก็ต้องศึกษาปรับโรงไฟฟ้าก๊าซไปสู่ไฮโดรเจนที่ใช้น้ำเป็นเชื้อเพลิงลดการใช้ฟอสซิล และปัจจุบัน ได้เตรียมการซื้อขายใบรับรองพลังงานหมุนเวียน ซึ่งมีแผนจะเสนอขายในตลาดต่างประเทศเร็วๆนี้” 

สำหรับปี 2564 บี.กริม เพาเวอร์ ตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่ในมือ และรองรับโครงการลงทุนใหม่ หรือการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยมีเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าเป็น 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี2568 จากปัจจุบัน บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว 3,682 เมกะวัตต์

161076309626

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 2564 กลุ่ม ปตท.ตั้งงบลงทุนอยู่ที่ 2.44 แสนล้านบาท โดยเน้นการลงทุนในธุรกิจหลัก เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในธุรกิจก๊าซ รวมถึงตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเป็น 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 จากปัจจุบันมีอยู่กว่า 500 เมกะวัตต์ รวมถึงทิศทางของโลกที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด เช่น การใช้ไฟฟ้า ทำให้กลุ่ม ปตท.สนใจเรื่องของธุรกิจอีวีด้วย

นอกจากนี้ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ในเครือ ปตท. มีความพร้อมในการผลิตและจะเริ่มจำหน่าย แบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี Semi Solid เซลล์แรกของประเทศไทย ซึ่งผลิจจากโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของ GPSC มูลค่าการลงทุน 1,100 ล้านบาท 

ทั้งนี้ เฟสแรกจะมีกำลังผลิตแบตเตอรี่ 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) เตรียมป้อนสู่ตลาดในไตรมาส 2 ปี2564 เพื่อกลุ่มลูกค้าทั้งในส่วน Mobility และ Stationary ป้อนให้โรงงาน สถานีอัดประจุ ธุรกิจขนส่ง อาทิ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถบัสไฟฟ้า และการประยุกต์ใช้งานด้านอื่น ซึ่งจะตอบโจทย์ตลาดที่มุ่งเทรนด์พลังงานสะอาด