เมื่อเกม (Esports) กำลังเป็นธุรกิจทำเงินระดับโลก

เมื่อเกม (Esports) กำลังเป็นธุรกิจทำเงินระดับโลก

การเล่นเกมเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จนได้รับความนิยมและเกิดการจัดการแข่งขันเป็นกีฬาระดับสากลหรือที่เรียกว่า Esports ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 30% ของ GDP ประเทศไทยแล้ว !

'เกม' ในมุมของ 'ผู้ใหญ่' อาจมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ หรือเป็นแค่สิ่งสร้างความบันเทิงยามว่างผ่อนคลายความเครียดเท่านั้น แต่ในเชิงธุรกิจจะพบว่า 'อุตสาหกรรมเกม' ในปัจจุบันมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยอานิสงส์ของพัฒนาการของสมาร์ทโฟนที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเครื่องมือในการพัฒนาเกมที่สร้างคุณภาพเทียบเท่ากับการเล่นผ่านคอมพิวเตอร์ แต่มีราคาต่อเครื่องที่ลดลงอย่างมาก ทำให้คนทุกเพศทุกวัยที่มีใจรักการเล่นเกมเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จนได้รับความนิยมและเกิดการจัดการแข่งขันเป็นกีฬาระดับสากลหรือที่เรียกว่า Esports ที่มีเม็ดเงินหมุนเวียนประมาณ 30% ของ GDP ประเทศไทยเลยทีเดียว

ผลสำรวจของ Statista พบว่า จำนวนผู้เล่นเกมทั้งหมดทั่วโลก ณ ปี ค.ศ. 2020 มีมากถึง 2.7 พันล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 30% ของประชากรโลก โดยอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่าสูงถึง 1.51 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2019 และคาดว่าจะไปถึง 1.59 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2020 และเมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการตลาดของอุตสาหกรรมที่ให้ความบันเทิงอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมเพลงและภาพยนตร์ กลับกลายเป็นว่าอุตสาหกรรมเกมมีมูลค่าสูงกว่า 3 เท่าในปี ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า ในเชิงธุรกิจนั้น เกมมีความยิ่งใหญ่แซงหน้ากลุ่ม Box Office ไปเรียบร้อยแล้ว โดยอุตสาหกรรมเกมจะประกอบไปด้วยประเภทธุรกิจย่อยต่างๆ อาทิ ผู้ผลิตเกม, ผู้ผลิตเครื่องเล่นและอุปกรณ์, ผู้ผลิตชิปประมวลผล, ผู้จัดงานแข่งขันต่าง และ ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับถ่ายทอดสด (Live Streaming) ซึ่งมีรูปแบบรายได้ที่แตกต่างกันออกไป และมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้นตามแนวโน้มลักษณะของผู้เล่นที่เปลี่ยนแปลงไป ที่มีการเล่นผ่านมือถือมากขึ้น

สำหรับตัวอย่างบริษัทที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจเกม คือ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Tencent Holdings นอกจาก Social Platform ชื่อดังอย่าง WeChat นั้น Tencent มีสัดส่วนรายได้มาจากธุรกิจเกมมากเป็นอันดับ 1 หรือประมาณ 33% จากรายได้รวม หรือ 1.25 แสนล้านหยวนในไตรมาส 3 ของปี ค.ศ. 2020 โดยที่ผ่านมาบริษัทรับรายได้จากเกมในลักษณะ Subscription Based กล่าวคือ เป็นรายได้จากการเติมเงินหรือซื้อแพ็กเกจพิเศษจากผู้เล่น เพื่อให้สามารถเข้าถึงเนื้อหาใหม่ๆ จากเกมเดิม ซึ่งทำให้รายได้จากผู้เล่นเดิมสม่ำเสมอและมีโอกาสเพิ่มเล่นใหม่ได้เรื่อยๆ แตกต่างจากลักษณะรายได้แบบเก่า หรือ One-time Transaction คือพัฒนาเกมใหม่ออกมา ซึ่งมีความเสี่ยงในแง่การลงทุนมากกว่า หากเกมไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งรายได้จากเกมของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง +61% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี ค.ศ. 2019 โดยบริษัทมีเกมติดอันดับเกมประเภท Mobile ที่มีจำนวนผู้เล่นต่อวันมากที่สุดถึง 5 เกม จากทั้งหมด 10 อันดับในปี 2019 ด้วย อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตเกมระดับโลกอย่าง League of Legends: LoL ซึ่งเป็นหนึ่งในเกมที่ได้รับการบรรจุเข้าไปเป็นเกม Esports ในรายการแข่งขันชั้นนำอย่าง ASIAN Games และ SEA Games ครั้งล่าสุดด้วย

อีกหนึ่งบริษัทที่เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเกม คือ NVIDIA ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิปหน่วยประมวล GPU ที่ส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ของโลกในปัจจุบัน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) เครื่องเล่นวิดีโอเกม (Console) และโทรศัพท์สมาร์ทโฟน (Mobile) นั้น จำเป็นต้องมี GPU ที่มีประสิทธิภาพดี เพื่อเพิ่มศักยภาพการเล่นในการแข่งขันได้ หรือเพิ่มประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้เล่น โดยพัฒนาการที่สำคัญของบริษัทในปีที่ผ่านมาคือการทำข้อเสนอควบรวมกิจการกับบริษัท Arm Holdings ด้วยมูลค่าราว 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทเจ้าของเทคโนโลยีชิปประมวลผลกลาง (Central Processing Unit: CPU) ของสมาร์ทโฟนกว่า 90% ทั่วโลก ทำให้ NVIDIA มีโอกาสพัฒนาชุด CPU และ GPU ที่สามารถประมวลผลร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพดีกว่าการใช้ CPU และ GPU ที่มาจากต่างบริษัทกันในอนาคต และเนื่องจากปัจจุบัน สินค้า GPU ของ NVIDIA มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว ดังนั้น หาก NVIDIA สามารถควบรวมกิจการกับ Arm Holdings ได้ในอนาคต บริษัทจะมีศักยภาพครองตลาด CPU และ GPU ของตลาด Mobile เป็นอันดับ 1 ได้อีก เพราะฉะนั้น NVIDIA น่าจะสามารถสร้างรายได้จากตลาด Mobile ได้อีกมากต่อจากนี้ แสดงถึงความสามารถในการพัฒนาเกมที่ตอบโจทย์คนในยุคปัจจุบัน

จะเห็นว่าอุตสาหกรรมเกมในเชิงธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีความน่าสนใจอย่างมาก จากพัฒนาการของ Internet of Things (IoT) ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงสมาร์ทโฟนเพื่อเล่นเกมที่ตนเองสนใจได้ตลอดเวลา และความเข้าถึงง่าย เล่นได้ทุกเพศทุกวัยนั่นเอง ทำให้อุตสาหกรรมเกมสามารถยกระดับกลายเป็นการแข่งขันกีฬา Esports ที่สากลให้การยอมรับมากกว่าสิ่งที่ให้ความบันเทิงเพียงอย่างเดียว จนมีเม็ดเงินสะพัดภายในธุรกิจที่เกี่ยวข้องแตะหลักแสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และอานิสงส์ของกีฬา Esports ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จะเป็นโอกาสให้นักลงทุนแสวงหาการลงทุนใหม่ๆ ในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเกมที่มีอัตราการเติบโตโดดเด่นมากกว่าหลายธุรกิจ มีรูปแบบรายได้ที่น่าสนใจโดยไม่อ่อนไหวไปกับทิศทางของเศรษฐกิจมหภาค และจะช่วยให้นักลงทุนสามารถเกาะกระแสการเติบโตไปกับเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองคนรุ่นใหม่ได้ในอนาคต

หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ AFPTTM Wealth Manager