พาณิชย์ ตั้งเป้าสินค้าจีไอใหม่ 18 รายการ

พาณิชย์ ตั้งเป้าสินค้าจีไอใหม่ 18 รายการ

“วีรศักดิ์”มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าส่งเสริมสินค้าจีไอ ตั้งเป้าขึ้นทะเบียนใหม่ในประเทศ 18 สินค้า จดทะเบียนในต่างประเทศ 2 สินค้า ที่อินโดนีเซีย พร้อมช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่าย ผ่านทางออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก และแพลตฟอร์ม shop@24

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้มอบกรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าส่งเสริมการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไอ (GI) ทั้งในไทยและต่างประเทศ โดยในไทยตั้งเป้าร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอรายการใหม่อีกอย่างน้อย 18 รายการ จากเดิมที่ขึ้นทะเบียนไปแล้ว 134 รายการ และในการขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ ได้คัดเลือกสินค้าไทยที่มีศักยภาพจำนวน 2 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มาจัดทำคำขอยื่นจดทะเบียนจีไอในอินโดนีเซีย เพื่อยกระดับสินค้าไทยให้ได้มาตรฐานสากลและเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับเกษตรกร

 “คาดว่าการผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียนจีไอ ทั้งในและต่างประเทศ จะช่วยเพิ่มมูลค่าทางการตลาดให้กับสินค้าจีไอได้สูงขึ้น หลังจากที่ผ่านมา สินค้าภายใต้ระบบการคุ้มครองจีไอไทยสามารถสร้างมูลค่าทางการตลาดโดยรวมได้กว่า 36,000 ล้านบาท”

  161068335852

นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า ยังได้มอบหมายให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวและจำหน่ายสินค้าจีไอได้อย่างต่อเนื่อง ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยล่าสุดได้มีการจัดทำแผนขยายตลาดสินค้าจีไอ สู่ช่องทางออนไลน์แล้ว ด้วยการหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมกับจุดเด่นของตัวสินค้า จัดอบรมเทคนิคจำเป็นในการขายสินค้าออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการ จีไอ และเตรียมจัดทำแคมเปญส่งเสริมการขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook เพจกรมทรัพย์สินทรัพย์สินทางปัญญา เพจจีไอ Thailand เว็บไซต์ shop@24 เป็นต้น

นอกจากนี้ จะเดินหน้าประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ จัดโปรโมตสินค้าจีไอ ไทยผ่านเว็บไซต์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ณ ประเทศญี่ปุ่น www.thailandtravel.or.jp เพื่อเผยแพร่ข้อมูลคุณภาพสินค้าจีอไทยให้เป็นที่รู้จัก และสร้างการรับรู้ถึงเอกลักษณ์ความแตกต่างจากสินค้าประเภทเดียวกันที่มาจากแหล่งภูมิศาสตร์อื่น

ทั้งนี้ นอกจากการส่งเสริมการจดทะเบียนจีไอ ทั้งในและต่างประเทศแล้ว จะให้ความสำคัญกับการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศว่าจะได้รับสินค้าจีไอ ที่มีคุณภาพและมาจากแหล่งผลิตที่แท้จริงด้วย