สหรัฐยุค'โจ ไบเดน'ความหวังเสริมสัมพันธ์ชาติเอเชีย

สหรัฐยุค'โจ ไบเดน'ความหวังเสริมสัมพันธ์ชาติเอเชีย

สหรัฐยุค'โจ ไบเดน'ความหวังเสริมสัมพันธ์ชาติเอเชีย ขณะ ดร.มหาธีร์ อดีตผู้นำมาเลเซียคาดการณ์ว่าจะได้เห็นความแตกต่างในสหรัฐเพราะประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ไบเดนเข้าใจภูมิภาคนี้มากกว่า

“มหาธีร์”มั่นใจ“ไบเดน”ช่วยฟื้นสัมพันธ์สหรัฐและชาติเอเชีย พร้อมปิดฉากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้ ขณะผลสำรวจความคิดเห็นผู้นำธุรกิจในชาติเอเชียตะวันออกคาดการณ์สัมพันธ์ทวิภาคีสหรัฐ-จีนดีขึ้นในยุคไบเดนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ

ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า สหรัฐภายใต้การบริหารของนายโจ ไบเดน ที่กำลังจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 20 ม.ค.ที่จะถึงนี้ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและประเทศในภูมิภาคเอเชียดีขึ้น รวมทั้งจะช่วยยุติสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้ หลังจากที่ความสัมพันธ์ทางการค้าของสองชาติย่ำแย่มาตลอด4ปีของการบริหารประเทศโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

“ผมคาดว่าจะได้เห็นความแตกต่างจากสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ เพราะทรัมป์ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทรัมป์ ทำตัวเป็นปฏิปักษ์กับทุกประเทศ แต่ผมคิดว่าไบเดนต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบายนี้ และทีมงานของไบเดนมีความเข้าใจ มีความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรกับหลายประเทศที่พร้อมสนับสนุนสหรัฐ”ดร.มหาธีร์ กล่าว

เมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ไบเดน กล่าวว่า สหรัฐพร้อมจะเป็นผู้นำโลกอีกครั้งเมื่อขึ้นมาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 ม.ค.หลังจากโลกต้องเผชิญหน้ากับการกีดกันทางการค้าภายใต้นโยบาย“อเมริกาต้องมาก่อน”ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่สร้างความเป็นปฏิปักษ์กับบรรดาชาติพันธมิตรและจุดชนวนนำไปสู่การทำสงครามการค้ากับชาติยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจอย่างจีน

“ผมไม่เชื่อว่าไบเดนจะเดินหน้าทำสงครามการค้าแบบโง่ๆกับจีน น่าจะมีความพยายามบางอย่างที่อาจจะช่วยแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางการค้าได้แต่ผมมั่นใจว่าไบเดนไม่เดินหน้าสานต่อสงครามการค้ากับจีนแน่นอน”อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าว

ชาติเศรษฐกิจใหญ่สุดของโลกทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ที่ร้าวลึกตั้งแต่เดือนก.ค.ปี 2561 เมื่อสหรัฐเรียกร้องให้จีนปรับเปลี่ยนนโยบายที่ช่วยปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาแก่สหรัฐและเปิดตลาดจีนให้บริษัทอเมริกันมากกว่าที่เป็นอยู่

ขณะที่ผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้จัดทำโดยเว็บไซต์นิกเคอิและหนังสือพิมพ์ชั้นนำในเกาหลีใต้และในจีน บ่งชี้ว่ากว่า50%ของบรรดาผู้นำธุรกิจในจีนและในเกาหลีใต้คาดการณ์ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนจะดีขึ้นภายใต้การบริหารประเทศของว่าที่ประธานาธิบดีไบเดนและจะช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

ผู้ตอบแบบสอบถามในจีน 57% มองว่า ความสัมพันธ์ทวิภาคีของสองประเทศจะดีขึ้น หรือจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมากหลังจากไบเดนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ม.ค.เช่นเดียวกับในเกาหลีใต้ที่ผู้ตอบแบบสอบถามมองแบบเดียวกันในสัดส่วน 51% แต่บรรดาผู้นำธุรกิจในญี่ปุ่นมองแง่ร้ายกว่า โดยมีเพียง 25% เท่านั้นที่คา่ดว่าความสัมพันธ์ของสหรัฐและจีนจะดีขึ้น และว่า 70% คาดการณ์ว่าความสัมพันธ์ของสองประเทศยังเหมือนเดิม

ผลสำรวจชิ้นนี้จัดทำตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.ปีที่แล้ว ด้วยการสอบถามความเห็นผู้บริหารธุรกิจ 290 คนจากบริษัทข้ามชาติประมาณ 100 ประเทศ

มุมมองเชิงบวกของอดีตผู้นำมาเลเซียมีขึ้นในวันเดียวกับที่เหล่านักวิเคราะห์จากหลายสำนัก พร้อมใจกันปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของมาเลเซียในปีนี้ หลังจากมาเลเซียประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ รวมทั้งการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศใช้มาตรการห้ามเดินทางข้ามรัฐทั่วประเทศ และล็อกดาวน์รัฐต่างๆ 6 รัฐเป็นเวลา 2 สัปดาห์ โดยเริ่มตั้งแต่วันพุธ (13 ม.ค.)

นอกจากนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านอับดุลเลาะห์ อาหมัด ชาห์แห่งมาเลเซียประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายที่จะอนุญาตให้รัฐบาลเลื่อนการเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มาเลเซียกำลังรับมือกับไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนัก โดยภาวะฉุกเฉินดังกล่าวจะดำเนินไปจนถึงวันที่ 1 ส.ค.หรือสิ้นสุดลงเร็วกว่านั้น โดยขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ถึงแม้ยังไม่ชัดเจนว่าสถานการณ์ฉุกเฉินจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวมาเลเซียอย่างไร แต่ข้อบังคับจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจะทำให้หยุดการประชุมรัฐสภาทั้งหมด ซึ่งตามกฏหมาย นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีสามารถอนุมัติร่างกฏหมายโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภาได้

แต่ฝ่ายค้านในรัฐสภามองว่าการที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ยื่นเรื่องขอประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นเพราะว่ารัฐบาลต้องการกุมอำนาจไว้มากกว่าจากการระบาดของโรค เนื่องจากตอนนี้มีฝ่ายค้าน รวมทั้งพันธมิตรรัฐบาลที่พยายามกดดันให้มูห์ยิดดิน ยัสซินลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจากมาเลเซียประกาศใช้มาตรการดังกล่าว บรรดานักวิเคราะห์ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของมาเลเซียในปีนี้ โดยนักวิเคราะห์จากบริษัทแคปิตอล อิโคโนมิคส์คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวเพียง 7% ในปีนี้ ลดลงจากระดับคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ขยายตัว 10%

ขณะที่นักวิเคราะห์ของธนาคารยูโอบี ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจของมาเลเซียลงสู่ระดับ 5% จากระดับ 6% ส่วนที่นักวิเคราะห์จากธนาคารมิซูโฮะ ปรับลดคาดการณ์ลงสู่ระดับ 5.9% จากระดับ 6.7% และนักวิเคราะห์จากฟิทช์ โซลูชันส์ ปรับลดคาดการณ์ลงสู่ระดับ 10% จากระดับ 11.5%

มาเลเซีย เป็นหนึ่งในประเทศเอเชียที่ได้รับผลกระทบรุนแรงสุดในปีที่แล้ว โดยเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 ของมาเลเซียลงสู่ระดับ หดตัว 6% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 4.3%