‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’ทรงตัว’ที่30บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด’ทรงตัว’ที่30บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินสหรัฐพักฐาน ขณะที่ทิศทางเงินบาทยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซึ่งก็ขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19ในประเทศ ถ้าบอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวขึ้นตามฝั่งสหรัฐ ก็จะไม่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนหรือแข็งค่ามาก

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยน แปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินสหรัฐพักฐานในคืนที่ผ่านมา โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง -0.38% เนื่องจากนักลงทุนขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง หลังตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (U.S. initial jobless claims) เพิ่มขึ้นมาที่ 9.965 แสนตำแหน่งสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่หยุดฟื้นตัวเพราะการระบาดของไวรัสรอบใหม่ สวนทางกับดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ปรับตัวขึ้น 0.71% ด้วยความหวังว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากสหรัฐจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกฟื้นตัว

ประเด็นดังกล่าวหนุนให้บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีกลับตัวขึ้นกลับมาที่ 1.13% (+5bps) เนื่องจากตลาดเชื่อว่านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจราว 2 ล้านล้านดอลลาร์จะเป็นเป้าหมายแรกของโจ ไบเดน หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี กดดันให้ดัชนีดอลลาร์ปรับตัวลง 0.3%

ส่วนเงินบาท ระยะสั้นแกว่งตัวในกรอบแคบ จุดที่น่าสนใจคือการที่บอนด์ยีลด์ไทยอายุสิบปี ขยับตัวขึ้นตามยีลด์สหรัฐมาที่ระดับ 1.27% สูงที่สุดในรอบกว่าสองเดือน คาดว่า เกิดจากนักลงทุนที่เริ่มลดปริมาณการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นยีลด์ทั้งไทยและสหรัฐปรับตัวขึ้นต่อ เราจึงคงเป้าหมายยีลด์ระยะยาว (สิบปี) ในไทยและสหรัฐสิ้นปี 2021 ที่ 1.50% ละ 1.75% ตามลำดับ นอกจากนี้ก็เชื่อว่าถ้ายีลด์ทั้งสองประเทศปรับตัวขึ้นพร้อมกัน ก็จะไม่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนหรือแข็งค่ามาก

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรอบค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.90-30.05 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินยังคงเผชิญแรงเทขายทำกำไร โดย ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ย่อตัวลง 0.4%  ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯNASDAQ ก็ย่อตัวลง 0.1%หลังข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อย่าง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (initial jobless claims) เพิ่มขึ้นเกือบ 1ล้านราย แย่กว่าที่ตลาดคาดว่า จะอยู่ที่ราวเกือบ 8แสนราย นอกจากนี้ ฝั่งหุ้นเติบโตโดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ก็เผชิญแรงเทขายทำกำไร จากความกังวลเชิง valuation หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น4bps แตะระดับ 1.13% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังว่าที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน เตรียมเสนอ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เข้าสู่สภา

  ทั้งนี้ ในฟากตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังจากที่ประธานเฟดยืนกรานว่า เฟดจะไม่รีบลดมาตรการอีดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) รวมถึงจะยังไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลง0.13% สู่ระดับ 90.24 จุด

สำหรับวันนี้ เราคาดว่า ตลาดจะยังคงติดตาม

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจจะ มีแนวโน้มดีขึ้น จากความหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม หลังพรรคเดโมแครตสามารถครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสได้ ซึ่งภาพดังกล่าวจะถูกสะท้อนโดย ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนธันวาคม ที่จะปรับตัวขึ้นราว 0.2%จากเดือนก่อนหน้า ดีขึ้นจากที่หดตัว 1.1% ในเดือนพฤศจิกายน ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UofM Consumer Sentiment) เดือนมกราคมจะปรับตัวขึ้นแตะระดับ 81จุด ดีขึ้นจาก 80.7จุด ในเดือนก่อน

เราคงมุมมองว่า เงินดอลลาร์พร้อมกลับมาอ่อนค่าลง หลังเฟดส่งสัญญาณสอดคล้องกันว่าจะไม่รีบลดการอัดฉีดสภาพคล่อง และหากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ได้ออกมาแย่กว่าคาด อาจช่วยหนุนให้ตลาดเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ตลาดลดการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง เงินดอลลาร์ กดดันให้เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าตามเทรนด์เดิมได้

อย่างไรก็ดี เรามองว่า ทิศทางเงินบาทยังขึ้นอยู่กับแนวโน้มฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติซึ่งก็ขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19ในประเทศ

ทั้งนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจไม่แข็งค่าไปมาก เพราะผู้นำเข้าก็รอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทใกล้ระดับ 30.00 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.15-30.20 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบต่อไป