รัฐบาลยื้อต่อสัมปทาน BTS เคาะสรุปหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ

รัฐบาลยื้อต่อสัมปทาน BTS เคาะสรุปหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ

รัฐบาลยื้อต่อสัมปทาน BTS หลังอภิปรายไม่ไว้วางใจ ห่วงโดยฝ่ายค้านโจมตี หลังเตรียมยื่นอภิปรายสัปดาห์หน้า

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า กรณีที่ยังไม่มีการต่อสัญญาสัมมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้กับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS จะทำให้ต้องเก็บค่าโดยสารตลอดสายที่ราคา 158 บาทตลอดสาย ซึ่งในจำนวนนี้เป็นค่าโดยสารในส่วนที่บีทีเอสรับสัมปทานช่วงหมอชิต-อ่อนนุช ราคาไม่เกิน 44 บาท และส่วนที่เหลือเป็นค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่กรุงเทพมหานครจ้างบีทีเอสเดินรถ

“ส่วนการจะเสนอเรื่องการต่ออายุสัมปทานให้ ครม.พิจารณาเมื่อไหร่ นายกรัฐมนตรีขอให้รอการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านเสร็จก่อน”แหล่งข่าว กล่าว

ขณะที่แหล่งข่าวจากรัฐบาล กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า การต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวกำลังเป็นปัญหาระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย มีท่าทีคัดค้านและอาจไม่ยกมือสนับสนุนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เนื่องจากล่าสุดพรรคเพื่อไทยที่เป็นแกนนำฝ่ายค้าน ได้ประกาศชัดเจนว่าเตรียมนำเรื่องปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวมาเป็นประเด็นหลักในการซักฟอกรัฐบาลด้วย

นอกจากนี้ ฝ่ายค้านเตรียมที่จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้บรรจุทันสมัยประชุมนี้ หากไม่ทันก็จะเสนอให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ จึงเป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรี ยังไม่ให้วาระการต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวและราคาส่วนต่อขยายเข้า ครม.ก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้ววงใจ เพื่อไม่ให้เรื่องนี้กลายมาเป็นประเด็นที่พรรคฝ่ายค้านจะใช้โจมตีรัฐบาลได้

ทั้งนี้กรุงเทพธุรกิจได้รายงานร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเพื่อเตรียมเสนอ ครม.โดยกำหนดรูปแบบสัญญาแบบ PPP Net Cost อายุสัญญา 40 ปีแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.ระยะเวลาร่วมลงทุนเดิม ตั้งแต่วันที่ลงนาม ถึง 4 ธ.ค.2572 และ2.ระยะเวลาร่วมลงทุนเพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค.2572 ถึง4 ธ.ค.2602 (ต่ออายุสัญญา 30 ปีจาก 4 ธ.ค.2572)

รวมทั้งมีการแบ่งผลประโยชน์ค่าโดยสารให้กรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2572 เป็นต้นไป แบ่งเป็นปีที่ 1-15 10% ,ปีที่ 16-25 15% และปีที่ 26-30 25% โดยภาระทางการเงินของโครงการที่เอกชนรับผิดชอบรวม 76,948 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุน 38,639 ล้านบาท ครอบคลุมค่าจัดหาขบวนรถ 17,291 ล้านบาทค่างานระบบ 20,248 ล้านบาทการลงทุนของกรุงเทพมหานคร (ส่วนสะพานตากสิน) 500 ล้านบาทการลงทุนของกรุงเทพมหานคร (ส่วนประตูกั้นชานชาลาอัตโนมัติส่วนต่อขยายที่ 1) 600 ล้านบาท

และภาระทางการเงินก่อนเริ่มสัมปทาน 38,309 ล้านบาทผลขาดทุนจากการดำเนินการส่วนต่อขยาย 28,103 ล้านบาท และส่วนต่างรายได้ค่าโดยสารที่ต้องชดเชยให้กองทุน BTSGIF 10,206 ล้านบาท ในขณะที่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นของกรุงเทพมหานครที่รับภาระภาษีในเขตกรุงเทพฯ ส่วนเอกชนรับผิดชอบภาษีนอกเขตกรุงเทพฯ รวมถึงภาษีอื่น