‘หุ้นค้าปลีก’รับอานิสงส์'เราชนะ'กระตุ้นกำลังซื้อ

‘หุ้นค้าปลีก’รับอานิสงส์'เราชนะ'กระตุ้นกำลังซื้อ

นับเป็นเวลา 1 ปีแล้ว ที่โควิด-19 ระบาดในประเทศไทย หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2563 แม้ว่าความรุนแรงของโรคจะไม่เท่ากับโรคระบาดอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่ผลกระทบกลับรุนแรงมากกว่าหลายเท่าตัว

เนื่องจากเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรก ทำให้ยังไม่มียารักษา ไม่มีวัคซีนป้องกัน ตัวเลขผู้ติดเชื้อจึงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนต้องมีการล็อกดาวน์ประเทศมาแล้ว ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ แทบหยุดชะงัก

ซึ่งตอนแรกดูเหมือนว่าสถานการณ์กำลังจะดีขึ้น หลังรัฐตัดสินใจใช้ยาแรง แต่แล้วเมื่อช่วงเดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด หลังพบการระบาดรอบใหม่ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในพื้นที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร

โดยพบผู้ติดเชื้อหลายร้อยคนต่อวัน ก่อนที่จะกระจายไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ จนต้องมีการประกาศยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวม 28 จังหวัด

การระบาดรอบใหม่เป็นเสมือนฝันร้ายที่เข้ามาซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย จากที่กำลังจะฟื้นตัว กลับมาน่าวิตกอีกครั้ง แม้จะไม่มีการล็อกดาวน์ทั้งประเทศเหมือนรอบก่อน แต่ด้วยตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมาก จึงทำให้มีคนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้นตามไปด้วย

จนเป็นที่มาให้รัฐบาลต้องออกแพ็กเกจเยียวยาชุดใหม่ ซึ่งดูจากชุดมาตรการที่ออกมาแล้วแทบไม่ต่างกับครั้งก่อน เริ่มตั้งแต่จ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบผ่านโครงการ “เราชนะ” คนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน หรือ คนละ 7,000 บาท

โดยกลุ่มเป้าหมายโฟกัสไปที่กลุ่มแรงงานนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ พี่น้องเกษตรกร จำนวน 30 ล้านคน คิดเป็นวงเงินรวม 2.1 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังจะเคาะเกณฑ์ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือและนำเสนอต่อที่ประชุม ครม. อีกครั้งในวันที่ 19 ม.ค. 2564

รวมทั้งเตรียมเปิดลงทะเบียน “คนละครึ่ง” รอบเก็บตกอีก 1 ล้านสิทธิ และขยายเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ไปอีก 1 ปี พ่วงการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01%

นอกจากนี้ ยังมีมาตราการที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายค่าครองชีพของประชาชน โดยให้ใช้ไฟฟรี 90 หน่วยแรก หากใช้เกิน 150 หน่วย จะได้รับส่วนลด 2 เดือน (ก.พ.-มี.ค. 2564) และลดค่าน้ำ 10%

พร้อมเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ตบ้านและมือถือ เพื่อสนับสนุนการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ขณะที่แบงก์รัฐและแบงก์พาณิชย์พร้อมใจออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้

แม้ชุดมาตรการที่ออกมาอาจไม่แรงเท่ากับรอบแรก แต่ก็จะเข้ามาช่วยลดผลกระทบของประชาชน ประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ดิ่งหนักมากไปกว่านี้ โดยเฉพาะโครงการเราชนะที่จะเข้ามาช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย การบริโภคภายในประเทศ เติมกำลังซื้อให้กับพี่น้องประชาชน

อานิสงส์จะตกไปยังหุ้นกลุ่มค้าปลีก ทั้งร้านสะดวกซื้ออย่างบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL ที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 1 หมื่นสาขา, ห้างค้าส่ง บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO

รวมไปถึงผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) หรือ OSP

กลุ่มเครื่องดื่ม บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG, บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI, บริษัท ที.เอ.ซี. คอนซูเมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TACC ที่ให้บริการเครื่องดื่มในร้านเเซเว่นอีเลฟเว่น

ส่วนอีกหนึ่งมาตรการที่น่าจะเกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน คือ การยืดเวลาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90% ไป 1 ปี และการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01% ซึ่งดูเผินๆ แล้วเหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์

แต่เนื่องจากกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอ คงไม่ได้ดึงดูดหรือกระตุ้นดีมานด์ของผู้บริโภคได้มากเท่าไหร่ ขณะที่ผู้ประกอบการหลายค่ายอัดโปรโมชั่นกันหนักอยู่แล้ว โดยบางค่ายเว้นค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองให้กับลูกค้าด้วยซ้ำ ดั้งนั้น มาตรการที่ออกมาคงไม่ได้เพิ่มแรงจูงใจมากเท่าที่ควร