คุมเข้มต่างด้าวทำงานร้านอาหารถูกกฎหมาย 2.5 ล้านคน

คุมเข้มต่างด้าวทำงานร้านอาหารถูกกฎหมาย 2.5 ล้านคน

กรมอนามัย คุมเข้มก่อนปฏิบัติงานลดเสี่ยง "โควิด-19" พร้อมเน้นย้ำร้านอาหารที่ให้บริการอาหารแบบเดลิเวอรีให้ความสำคัญด้านสุขอนามัย ทั้งความสะอาด และถูกสุขลักษณะ

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 64 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมร้านอาหารในศูนย์การค้าริเวอร์ไซด์ พลาซ่า กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ด้านสินค้าและธุรกิจท่องเที่ยว ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ช่วงนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มีการคัดกรองเชิงรุกทำให้พบในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหารได้มีการคุมเข้มมาตรการป้องกันโควิด-19 ในกลุ่มนี้ให้มากขึ้น เพราะจากข้อมูลสถานการณ์คนต่างด้าวของสำนักบริหารต่างด้าว กรมการจัดหางานล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2563 พบมีคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย จำนวน 2,526,275 คน ในจำนวนนี้มีการทำงานในร้านอาหารและเครื่องดื่ม โดยทำหน้าที่ทั้งปรุงประกอบอาหาร สัมผัสอาหาร และให้บริการแก่ลูกค้าที่เข้ามานั่งในร้านหรือซื้อกลับบ้าน

ผู้ประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ทำงาน นอกจากจะต้องดูแลด้วยการพาไปขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องและตรวจคัดกรองโรคให้เรียบร้อยแล้ว ยังคงต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคโควิด-19 ตั้งแต่ให้มีระบบการคัดกรองพนักงาน และต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะปฏิบัติหน้าที่ มีการล้างมือเป็นประจำก่อนและหลังปรุงประกอบการ และให้หมั่นสังเกตอาการ หากมีอาการเจ็บป่วย มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ เหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที รวมทั้งผู้ประกอบกิจการร้านอาหารควรประเมินการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านแพลตฟอร์มTHAI STOP COVID http://stopcovid.anamai.moph.go.th ของกรมอนามัย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า จากมาตรการที่คุมเข้มของภาครัฐขณะนี้ ทำให้ประชาชนที่ทำงาน จากบ้าน หรือ Work from Home หันมาสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี (Delivery) แทนการไปจับจ่ายซื้ออาหารจากตลาดนัดหรือห้างสรรพสินค้ากันมากขึ้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อโควิด-19 ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ให้บริการอาหารแบบเดลิเวอรี ร้านอาหารต้องสะอาด ถูกสุขลักษณะ อาหารปรุงสำเร็จ ต้องปรุงสุกใหม่ สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ปรุงให้สุกด้วยความร้อนไม่น้อยกว่า 70 องศาเซลเซียส นานกว่า 5 นาที หลีกเลี่ยงการจำหน่ายเมนูอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก และต้องติดตามสถานการณ์และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันโรค และให้ความรู้หรือประชาสัมพันธ์แก่ผู้ขนส่งอาหาร เมื่อไปส่งอาหารให้ลูกค้าขอให้ใช้วิธีการส่งอาหารแบบ Personal distancing ยืนห่างจากลูกค้าอย่างน้อย 1 เมตร และห้ามวางอาหารบนพื้น

"สำหรับผู้ขนส่งอาหารเดลิเวอรี ต้องลงทะเบียนกับผู้ประกอบการที่จัดบริการอาหารแบบเดลิเวอรี สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยระหว่างปฏิบัติงาน ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนเข้าร้านอาหาร ก่อนและหลังการส่งอาหารให้ผู้สั่งซื้ออาหาร รวมทั้งหลังเข้าห้องส้วม หลังจับสิ่งสกปรกหรือจับเงิน และต้องคอยสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการเจ็บป่วย มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ เหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที ส่วนผู้สั่งซื้ออาหารหรือผู้บริโภคให้จัดเตรียมภาชนะรองรับอาหาร เช่น กล่องหรือโต๊ะแบบพับได้ และให้ยืนห่างจากผู้ขนส่งอาหารอย่างน้อย 1 เมตร ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้เจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ หลังการรับอาหารจากคนขนส่งอาหารและควรจ่ายค่าบริการโดยวิธี E-Payment หรือเตรียมเงินสดให้พอดี เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินทอน" นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าว