ชิ้นส่วนอิเล็กฯ“รีเทิร์น”โต หุ้น SMTน้องเล็กกำลังสร้างฐาน

ชิ้นส่วนอิเล็กฯ“รีเทิร์น”โต  หุ้น SMTน้องเล็กกำลังสร้างฐาน

หากพูดถึงหุ้นที่ทำ‘ผลตอบแทน’ (รีเทิร์น)ได้ดีมากสวนกระแสโควิด-19 ต้องบอกเลยว่า คือ หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 

ซึ่งความ“ร้อนแรง”ของ หุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้นมาเนื่องจากความคาดผลประกอบการกลับมาฟื้นตัว ทำให้นักลงทุนจึงทยอยเข้าเก็บเพื่อดักเก็งกำไร เพราะคาดผลประกอบการปี 2563 ออกมาไม่ทำให้ทำให้นักลงทุนผิดหวัง

ทว่าในปัจจุบันมีหุ้นน้องเล็กในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกซ์อย่าง บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) หรือ SMT ที่ผลดำเนินงานกำลังเริ่ม “สร้างฐานเติบโตครั้งใหม่”หลังที่ผ่านมาผลประกอบการผันผวนทุกปี “ปีนี้กำไร ! ปีหน้าขาดทุน !” คือสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมาตลอด

ขณะที่ ราคาหุ้น SMT ในปี 2563 (2 ม.ค.-30 ธ.ค. ) ปรับตัวขึ้นมา 127.35%โดยราคาสูงสุด (New High) 3.32 บาท (14 ต.ค.) และราคาต่ำสุด 0.58 บาท (25 มี.ค.) และราคาหุ้นยังร้อนแรงต่อเนื่องในปี 2564 จนเข้าข่ายมาตรการกำกับการซื้อขายCash Balance แต่ในแง่ของธุรกิจวันนี้ เปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่หลังปี 2563 

โดยแต่งตั้งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) คนใหม่ วิรัตน์ ผูกไทย เข้ามาเพื่อสร้างศักยภาพภายในองค์กรเพื่อการขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดใหม่ๆ ในอนาคต ไม่ให้กลับมาผันผวนเฉกเช่นเดิมแล้ว สอดคล้องกับแผนธุรกิจในปี 2564 เน้นตลาดกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีระดับมาร์จินสูง 

โดยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ของผลิตภัณฑ์ โดยปีนี้ “ดาวเด่น”ที่จะสร้างผลประกอบการเติบโตเป็นธุรกิจ Opticsและ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ Box Buildที่คาดว่าปีนี้จะขึ้นมาแทนที่ธุรกิจ IC ที่สัดส่วนรายได้จะลดลงมาอยู่ในระดับ 30-40% จากเดิม 80%

นอกจากนี้ในแง่ของงานวิศวกรรม (Engineering) บริษัทจะมีโปรดักท์ที่ออกแบบเองให้กลับลูกค้า โดยเป็นการเพิ่มดีไซน์ ซึ่งเป็นการมูลค่า (Added Value) ให้กับลูกค้าด้วย ซึ่งบริษัทมีลูกค้ารายใหญ่สหรัฐฯ รองรับแล้ว คาดว่าจะเริ่มผลิตในไตรมาส 1 ปี 2564 ซึ่งถือเป็น High Volume ด้วย เป็นงาน complete box ถือว่าเป็นบริการ (Service) ใหม่ ที่ทำให้บริษัทแข็งแกร่งขึ้น และเป็นการสร้าง Value ที่แท้จริง ควบคู่ไปกับสิ่งที่บริษัทมีอยู่แล้ว

“ธุรกิจของ SMT มีการขยายตัวมากขึ้น จากเดิมบริษัทอยู่ในธุรกิจที่ผลิตภัณฑ์มีรายละเอียดไม่มาก แต่ว่าตอนนี้บริษัทเริ่มเน้นมาทำกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีรายละเอียดมากขึ้นและมีเทคโนโลยีระดับสูงและมีความซับซ้อนเป็น Product System มากขึ้น สร้าง Added Value ให้บริษัทได้สูงมากขึ้น”

สำหรับผลประกอบการปีนี้ตั้งเป้ายอดขายระดับ 2,600 ล้านบาท เติบโต 30-40% จากปีก่อนที่คาดว่ารายได้ 1,974 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันมี “คำสั่งซื้อ” จากลูกค้าล้นยาวไปจนถึงช่วงปลายปีแล้ว ประกอบกับยังไม่นับรวมกับลูกค้าใหม่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการเซ็นสัญญาและคาดว่าจะเห็นยอดออเดอร์เข้ามานับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 เป็นลูกค้าในแถบสหรัฐและยุโรปซึ่งเป็นลูกค้าที่ออเดอร์ในสินค้าที่มีมาร์จินระดับสูง และลูกค้าแต่ละรายมีออเดอร์ระดับ 1,000 ล้านบาท

แผนธุรกิจ 5 ปี (2564-2568) ตั้งเป้าหมายการเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำ 30% ทุกปี ฉะนั้นในปี 2568 มีโอกาสรายได้แตะ 7,500 ล้านบาท ซึ่งในระยะ 3 ปีแรก จะมาจากการเติบโตของธุรกิจหลัก (Organic Growth) ส่วนระยะปีที่ 4 และ 5 (2567-2568) คาดว่าจะมีการซื้อกิจการ (M&A) เข้ามาสร้างการเติบโตให้เร็วยิ่งขึ้น

โดยขนาดของการลงทุนซื้อกิจการนั้น คาดว่ามูลค่าลงทุนจะไม่เกิน “พันล้านบาทต่อดีล”ภายใต้บริษัทจะต้องมียอดขายระดับ 20-30 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งบริษัทที่ SMT เข้าไปลงทุนนั้นจะบริษัทต้องมีกำไรจากธุรกิจอยู่แล้วด้วย รวมถึงยอดขายของ SMT ต้องใหญ่กว่าประมาณ 7-10 เท่า

อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การทำ M&A บริษัทไม่ได้ต้องการให้ SMT เติบโตในแง่ของรายได้และยอดขายอย่างเดียว แต่มีเป้าหมาย 3 เรื่อง นั่นคือ ข้อแรก การขยายเพื่อได้รับสิทธิ์ต่างๆ เช่น การขยายในไทย จะต้องได้รับสิทธิ์ BOI , ข้อ 2. ลงทุนในประเทศที่มีการบริหารจัดการได้ง่าย และข้อ 3. การลงทุนที่จะทำให้บริษัทอยู่ใกล้ลูกค้ามากขึ้น เดินทางได้สะดวก